อัคคีภัยเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สิน ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะในเมืองนอกเมือง ชนบท ป่าเขาลำเนาไพร เมื่อไรก็ตามที่เกิดอัคคีภัยขึ้นจะปรากฏวีรบุรุษกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุพร้อมเสียงแตรไซเรนโหยหวน เขาเข้าไปยังสถานที่ที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายด้วยหัวใจกล้าหาญ มีสติปัญญาและทักษะในการทำสงครามกับพระเพลิงที่กำลังลุกโชติช่วง มีเครื่องมือเท่าที่จะสามารถคิดค้นกันได้ใช้ในการต่อสู้ควบคุมกำราบให้เพลิงสงบลง ความไม่แน่นอนของการต่อสู้นั้นอาจแลกด้วยชีวิตของเขาเอง ด้วยความพิการ และความเจ็บป่วยทั้งกายใจ
กระนั้นเขาก็ยังมีความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่วีรบุรุษที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้อยู่รอดต่อไป และยังคงเดินหน้าไปทำสงครามกับพระเพลิงในวันต่อๆไปตราบที่กำลังกายใจจะมีเป็นสิ่งที่เขาผูกพันมากกว่าทรัพย์สิน เหรียญตราที่เชิดชูกัน วีรบุรุษเหล่านี้ถูกเรียกชื่อในสังคมต่างๆของอาเซียนด้วยคำแตกต่างกัน อาทิ Fireman, Firefighter, นักดับเพลิง, นักผจญเพลิง, คนมอดไฟ, เนียคปนลดอัคคีเปย, Bomba, Pemadam Kebakaran, Tukang Geni, Ahli Bomba และอีกมากมาย
บทเพลงในรายการครั้งนี้นำตัวอย่างเพลงเกี่ยวกับนักผจญเพลิงที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สังคมอาเซียนมานำเสนอ สื่อให้เห็นทั้งวิธีการบอกเล่ากล่าวถึงคนเหล่านี้ด้วยเสียงของภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ ลักษณะดนตรีน้ำเสียง การขับร้อง เนื้อหาที่นำมาใช้จนถึงบางแง่มุมของชีวิตนักผจญเพลิงที่เราอาจสัมผัสได้ในระดับชั้นที่ลึกไปกว่าเพลง ดนตรีบทเพลงที่น่ารู้จัก เช่น Pemadam Kebakaran (อินโดนีเซีย), Lagu Bomba (มาเลเซีย), Lính cứu hỏa, (เวียดนาม) เป็นต้น