นับตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองระบบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส (Ferdinan Margos) (11 กันยายน ค.ศ. 1917 - 28 กันยายน ค.ศ. 1989) จนถึงยุคใหม่ที่แผ่นดินฟิลิปปินส์ถูกปกครองโดยประธานาธิบดีโรดริ โก “ดีกง” ดูเตอร์เต (Rodrigo Roa Duterte) (28 มีนาคม-ปัจจุบัน) เสียงที่กู่ก้องขับขานโดยศิลปินภาคประชาชน จนถึงคนหนุ่มสาวที่ร่วมแสดงออกบนท้องถนนถึงความคับข้องหมองใจต่อนโยบายของรัฐที่สร้างปัญหาต่อสังคมมีอยู่ ตลอดเวลา เสียงแห่งความคับแค้น เสียงแห่งความเกรี้ยวโกรธ เสียงแห่งความเศร้าและเสียงแห่งความหวัง ถูกส่งต่อจากศิลปินผู้สร้างสรรค์ไปยังประชาชน ถูกส่งต่อจากห้องบันทึกเสียงไปสู่ท้องถนน ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกเชิงต่อต้าน ปลุกพลังให้ผู้คนลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม
เพลงแล้วเพลงเล่า บทเพลงเหล่านี้นับเป็นจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาควบคู่ไปกับปรากฏการณ์อื่นๆที่เป็นการเคลื่อนไหวของผู้คนร่วมสมัย แน่นอนว่า หลายบทเพลง แม้เป็นเสียงที่จะเล่าขานความจริงยิ่งกว่าความจริง แต่ก็ไม่อาจอยู่รอดได้ด้วยอำนาจชั่วช้าและกฏหมาย เผด็จการรัฐที่พยายามจะควบคุมเสียงเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก็มีบทเพลงไม่น้อยที่ประทับความทรงจำร่วมให้กับ ผู้คนจนกลายเป็นงานศิลปะที่มีศักดิ์ศรีไม่ต่างไปจากเพลงเกียรติยศของฝ่ายรัฐ
ใน e.p.นี้เป็นตัวอย่างเสียงเพื่อนบ้านฟิลิปปินส์ ศิลปินที่เคยมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมในอดีตที่ผ่านมา อาทิ เฟร็ดดี้ อากุยล่า (Freddie Aguilar) และกลุ่มศิลปินที่เคยร่วมสนามการต่อสู้ขับไล่มาร์กอสในช่วงต้นทศวรรษ 70s กับเสียงของศิลปินรุ่นใหม่และประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงผนึกกำลังร่วมกันส่งเสียงต่อต้านนโยบายคุกคามสิทธิ มนุษยชนของดูเตอร์เต วันแล้ววันเล่าทั้งบนท้องถนนและในสื่อโซเชียลมีเดีย