วัฒนธรรมฮิพฮอพแม้จะมีกำเนิดมาจากสังคมกลุ่มคนดำในพื้นที่เล็กๆที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัดของสังคมอเมริกัน ตั้งแต่ช่วง 1970 ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของดนตรีศิลปะ การเต้นรำ การสร้างไลฟ์สไตล์และการแสดงความเป็นกบฏต่อสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ในที่สุดก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมของโลกและพัฒนาจากสื่อบันเทิงกลายมาเป็นเส้นทางหนึ่งของการต่อสู้บนวิถีการเมืองของผู้คนจำนวนมากที่ส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกเกรี้ยวโกรธที่ถูกกดทับ
จากอำนาจอยุติธรรม จากความคับแค้นในความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม จากความขมขื่นในการมีชีวิตอยู่ ท่ามกลางความผิดปกตินานา กลั่นออกมาเป็นภาษากวีที่มีความรุนแรง ดิบเถื่อน ทรงพลัง พรั่งพรูไปกับจังหวะดนตรีที่ ปลุกเร้า เป็นเสียงเพลงแบ็คกราวนด์ส่งเสียงไปให้ผู้เกี่ยวข้องได้ยิน ด้วยความหวังในการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
เสียงเพลงในโลกฮิพฮอพ มิใช่เป็นเสียงของฝ่ายชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงก็มีส่วนสำคัญด้วย แม้กระทั่งเพศหลากหลายก็มี สิทธิในการส่งเสียงและมีค่าในการรับฟังอย่างเคารพ เพลงฮิพฮอพของผู้หญิง นอกจากจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์แล้ว ก็ยังเป็นอีกพื้นที่ในการสร้างสรรค์ศิลปะที่ไม่ควรมองข้ามผู้หญิงมิใช่เพียงวัตถุทางเพศเท่านั้น ยังมีความเป็นมนุษย์ที่มี ศักดิ์ศรีเช่นกันในสภาวะสังคมเลวร้าย
ปรากฏการณ์ที่รัฐเอาผิดแรปเปอร์หญิงไทยที่ออกมาส่งเสียงวิจารณ์การบริหารจัดการที่ล้มเหลว ทำให้เกิดความสนใจที่จะหันไปศึกษาบทบาทหน้าที่และผลงานของแรปเปอร์หญิงคนอื่นๆในดินแดนอาเซียนที่ได้ ชื่อว่าเป็นกบฏชั้นนำ อาทิ Ruby Ibarra (Philippines), Suboi (Vietnam), Ramengvrl (Indonesia), Lisha (Cambodia), Maria One (Singapore) ว่าเธอเหล่านั้น ส่งเสียงอย่างไรบ้าง ส่งเสียงทำไม ส่งเสียงไปที่ใคร และเราจะ เข้าใจมิติของกบฏผู้หญิงในวิถีดนตรีฮิพฮอพได้อย่างไร