สิ่งที่รัฐเผด็จการและทรราชย์ทุกยุคสมัยไม่อยากได้ยิน คือเสียงของประชาชนที่สะท้อนความรู้สึกไม่พึงพอใจในผลของการบริหารจัดการปกครอง นโยบายที่ไม่เป็นธรรม การทุจริต ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ถูกเปิดแผลออกมา ความล้มเหลวในการจัดการสวัสดิการสังคม การปิดกั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตคน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สื่อสารออกมาเป็นบทเพลงที่ถูกนำไปขับขานบรรเลงกันอย่างกว้างขวาง
พลังของดนตรีที่มิใช่เพียงศิลปะทางเสียงเพื่อสร้างความบันเทิงเท่านั้น หากแต่เป็นการนำความจริงที่น่าเจ็บปวดมากล่าวถึงปลุกให้ผู้คนได้ตาสว่าง หันมาเรียกร้องให้รัฐต้องแก้ไข กระทั่งร่วมกันแสดงความไม่ไว้วางใจให้บริหารจัดการต่อไป เรียกร้องให้รัฐสละอำนาจ คืนความยุติธรรม อธิปไตยและ สิทธิเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชน
เพลงวิจารณ์รัฐ เพลงประท้วง เพลงต่อต้าน จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ควรค่าแก่การศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ของอาเซียนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมายาวนานในทุกมิติไม่เว้นแม้การเมืองการปกครอง เมื่อเพลงทำหน้าที่ส่งเสียง รัฐเผด็จการและทรราชย์จะรับฟังอย่างไร หรือหาทางจัดการอย่างไรกับเสียงเพลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรสนใจ
ใน e.p.นี้ยกตัวอย่างเสียงเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย งานเพลงและศิลปินที่เคยมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมในอดีตที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ศิลปินต้นแบบที่เคยทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเพลง อาทิ Iwan Fals, Bimbo, Rhoma Irama ที่เคยมีบทเพลงประทับไว้ในความทรงจำตั้งแต่ 1980s มาจนถึงยุควงพังก์ Marjinal และวงดนตรีแนวต่อต้านรุ่นใหม่ Efek Rumah Kaca ที่ผลิตงานโด่งดังร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในสังคมอินโดนีเซียช่วงโควิดระบาด Mosi Tidak Percaya
ป.ล. ฟังเนื้อหาไม่ออกไม่เป็นไร แค่ขอให้รู้สึกร่วมกันถึงความเจ็บปวดของผู้คนอาเซียนก็พอใจแล้ว