ซาวด์พิณกลองเร้าใจในวัฒนธรรมรถแห่อีสาน การโชว์ความอลังการของเวทีหมอลำ เมื่อจะต้องจัดหนักจัดเต็มประชันกัน มีสีสันของเพลงแขกอินเดียปะปนอยู่ด้วย เช่นเดียวกับตำหนักทรงเจ้าเมื่อองค์เทพประทับร่าง การสื่อสารด้วยท่วงท่าร่ายรำนาฏศิลป์อินเดีย เสียงเพลงอินเดีย ภาษาเทพที่สมมติว่าอินเดียก็ปรากฏออกมามากมาย จนกระทั่งคลี่คลายไปสู่โลกดิจิตอล เกิดการออกแบบซาวนด์ดนตรีใหม่ๆขึ้นมาในระบบสตูดิโอ มีการประยุกต์ใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่นในการสื่อสารกับทวยเทพแทนบทบูชาอินเดียแต่เดิม รวมทั้งการเกิดนาฏศิลป์ที่ออกแบบลีลาเพื่อบูชาเทพเจ้าจริงจังประดุจเพลงหน้าพาทย์
ใน e.p.นี้สำรวจตัวอย่างของพัฒนาการใช้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเซ่นสรวงบูชาเทพฮินดูจากกลุ่มศิลปินอีสาน กรณีศึกษา ภูมิศักดิ์คีตะอีสาน - ศิลปิน แก้วเพทาย ซึ่งนอกจากจะประพันธ์เพลงภาษาไทยขึ้นมาใหม่ยังผสมผสานเสียงดนตรีพื้นเมืองเข้าไปกับเสียงแซมปลิ้งดนตรีอินเดียได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งมิติใหม่แห่งการประดิษฐ์บทเพลงดนตรีที่ข้ามพรมแดนระหว่างทฤษฎีดนตรีอินเดียและดนตรีไทยในกรณีของปวรินทร์พิเกณฑ์ในงานนาฏดุริยางคศิลป์สร้างสรรค์ชุดสยามภารตะ ก็น่านำมาทบทวนกันถึงทิศทางการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบการแสดงไทยอินเดียในโลกอนาคตเช่นกัน