ไดออกซินคืออะไร
ไดออกซินเป็นกลุ่มสารอินทรีย์ที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสลายตัวยาก บางชนิดมีความเป็นพิษสูงที่สุดเท่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจ การได้รับสารไดออกซินในปริมาณที่เกินความสามารถในการทำลายทิ้งได้ในร่างกายสามารถทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า chloracne (มาจากคำว่า chlorine + acne) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่รุนแรง
ไดออกซินมีความเป็นพิษสูงและสามารถก่อให้เกิดปัญหาการเจริญพันธุ์และพัฒนาการ (เด็กเวียดนามที่เกิดในระหว่างและหลังสงครามเวียดนามจำนวนมากมีความพิการหลายส่วนของร่างกายเนื่องจากแม่รับสาร TCDD ที่ปนเปื้อนใน Agent Orange ที่สหรัฐอเมริกานำมาโปรยเพื่อทำให้ป่าโปร่ง) และที่สำคัญกว่านั้นคือ ไดออกซินส่วนใหญ่ทำลายตับและก่อมะเร็งในลักษณะการกดภูมิคุ้มกันให้ต่ำกว่าปรกติ
ไดออกซินมาจากไหน
• เคยมีการสอนในชั้นเรียนว่า ไดออกซิน เช่น TCDD ซึ่งเป็นสารประกอบที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจในระหว่างการฟอกสีเยื่อกระดาษด้วยคลอรีน (ในอดีต) และการผลิตสารกำจัดต้นไม้ที่ไม่ต้องการ (phenoxy herbicides) เช่น Agent Orange (2,4-D และ 2,4,5-T) และอะโรเมติกส์คลอรีนอื่นๆ เป็นแหล่งที่สำคัญ แต่ต่อมามีการพบไดออกซินในตะกอนจากทะเลสาบและมหาสมุทรซึ่งเป็นการเกิดขึ้นก่อนมนุษย์จะมีความสามารถทำอะไรเหล่านี้ ดังนั้นในปัจจุบันจึงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า แหล่งที่มาหลักของสารไดออกซินคือ กระบวนการเผาไหม้ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า และแม้แต่การระเบิดของภูเขาไฟ
• ส่วนแหล่งที่มักถูกละเลยในแง่ของการปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อมคือ เตาเผาขยะ (โดยเฉพาะขยะที่มีพลาสติกที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ) ที่ไม่มีการควบคุมกระบวนการเผาให้สมบูรณ์เป็นแหล่งสำคัญ
ถามว่า ถ้าเอาน้ำในขวดพลาสติกแช่เข็ง จะมีสารไดออกซินปนเปื้อนออกมา จริงหรือไม่
• คำตอบคือ ไม่จริง เพราะในพลาสติกไม่มีสารไดออกซิน (ยกเว้นการเอาพลาสติกชนิดที่มีองค์ประกอบของคลอรีนเช่น แผ่นห่ออาหารที่เป็น PVC ไปเผาแบบมักง่าย ควันที่เกิดขึ้นจะมีไดออกซิน) ที่สำคัญไดออกซินเป็นสารที่ละลายได้น้อยมากในน้ำ ดังนั้น ต่อให้ขวดมีไดออกซินปนเปื้อน โดยไม่ทราบสาเหตุ ความเย็นจากน้ำที่แข็งตัว จะไม่ส่งเสริมการละลายออกมาของไดออกซินสู่น้ำ
ติดตามฟังใน คิดก่อนเชื่อ กับ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยา