มีเว็บไซต์หนึ่งระบุว่าเป็นเว็บฯให้ความรู้สมุนไพรและโรค เรียนรู้เรื่องสนุกๆ เพื่อการดูแลสุขภาพสำหรับทุกคน มีบทความเรื่องโทษของเก๊กฮวย โดยมีส่วนหนึ่งระบุว่า
- การใช้ประโยชน์จากเก็กฮวยด้านการบำรุงร่างกายและการรักษาโรค มีข้อควรระวังคือ ดื่มน้ำเก๊กฮวยที่หวานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลในเลือดจนเป็นเบาหวานได้
- น้ำมันจากดอกเก๊กฮวย มีสารไพรีทรัม ( Pyrethrum ) ซึ่งเหมือนสารประกอบในสารกำจัดแมลง หากเกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง ปาก ตา หรือ จมูก ให้หยุดการใช้ทันที
• ประเด็นน้ำมันจากดอกเก๊กฮวย มีสารไพรีทรัม (Pyrethrum) ควรเชื่อหรือไม่
- ดอกเก๊กฮวย เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของดอกเบญจมาศสวน (Chrysanthemum morifolium Ramat.) ที่มีดอกสีขาว และดอกเบญจมาศหนู (Chrysanthemum indicum Linn.) ซึ่งเป็นพันธุ์ดอกสีเหลือง
- ดอกไม้สกุลเบญจมาศที่เรียกชื่อว่า ไพรีทรัม (Pyrethrum) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chrysanthemum cinerariifolium มีดอกสีขาว และ Chrysanthemum coccineum มีดอกสีแดง เป็นแหล่งของสารกำจัดแมลงตามธรรมชาติ ดอกไม้จะถูกบดเป็นผง และส่วนประกอบออกฤทธิ์ที่เรียกว่าไพรีทริน ใช้ผลิตเป็นสารแขวนลอยในน้ำหรือน้ำมันหรือเป็นผง ไพรีทรินโจมตีระบบประสาทของแมลงทุกชนิด เป็นอันตรายต่อปลา แต่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก น้อยกว่ายาฆ่าแมลงสังเคราะห์หลายชนิด ถูกย่อยสลายในสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยากนัก
• บทความเรื่อง Insecticidal Activity of Flower and Leaf Extracts from Chrysanthemum Species Against Tribolium confusum (ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงของสารสกัดจากดอกและใบจากดอกเบญจมาศชนิดที่ต่อต้านด้วงแป้ง) ในวารสาร Tunisian Journal of Plant Protection ของปี 2008 ศึกษาฤทธิ์ฆ่าแมลงของสารสกัดจากดอกและใบของ Chrysanthemum พืชใน genus หรือสกุลดอกเบญจมาศแปดสายพันธุ์คือ C. segetum, C. coronarium, C. macrotum, C. myconis, C. fuscatum, C. paludosum, C. trifurcatum และ C. grandiflorum ต่อด้วงแป้ง (Tribolium confusum) พบว่า สารสกัด C. segetum มีระดับความเป็นพิษต่ำ สารสกัดที่มีความเป็นพิษสูงได้จากดอก C. fuscatum และ C. grandiflorum
• สรุป สารไพรีทริน มีในดอกไม้ที่เป็นญาติของดอกเก๊กฮวย ส่วนดอกเก๊กฮวยอาจมีน้อยมากจนตรวจวัดไม่ได้ จึงควรดื่มน้ำเก๊กฮวยในลักษณะที่บรรพบุรุษเคยดื่มแล้วไม่เป็นอันตราย