จากมหรสพเชิงพิธีกรรม ซิกีร zikir ของคนมุสลิมตะวันออกกลาง คลี่ลายมาเป็น “ดิเกร์” หรือ “ดิกีร” ความบันเทิงพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในชุมชนพี่น้องมุสลิมในเขตภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยและภาคเหนือ-ตะวันตกของมาเลเซีย ฝั่งไทยเรียกว่าดิเกร์ฮูลูฝั่งมาเลย์เรียกว่าดิกีร์บารัต เป็นศิลปะการละเล่นที่มีชีวิตชีวาสนุกสนาน มีบทบาทในกิจกรรมบันเทิงที่มีรากฐานจากความเชื่อศาสนาไปจนถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐ องค์ประกอบการแสดงมีนักร้องนำ ลูกคู่ นักดนตรีเครื่องดนตรีรำมะนาใหญ่ (บานออีบู) รำมะนาเล็ก (บานออะเนาะ) ฆ้อง (กง) ฉาบ (กายูตือโปะ) ฉิ่ง (อาเนาะอายา) ลูกซัดหรือลูกแซ็ก (วอลอมา ธัมเรง หรือวอกอเจาะ) และโหม่ง ความน่าดูชมที่ติดตาผู้คนมากคือลีลาจังหวะของลูกคู่ที่ร่ายรำกันอย่างพร้อมเพรียงมีพลัง
.
คำว่า “ฮูลู” แปลว่าทิศต้นน้ำหรืออยู่เหนือน้ำ หมายถึงพื้นที่ต้นแม่น้ำปัตตานี งานบันทึกเสียงการแสดงดิเกร์ฮูลูของคณะยูโซะ บ่อทอง นำโดยครูยูโซะ อุมาร์ (2495-2562) ชาวบ้านบ่อทอง ปัตตานีเป็นการสาธิการแสดงดิเกร์ฮูลูตาแบบแผนโบราณ เริ่มด้วยโหมโรงรำมะนา เพลงตาโบะห์บานอ แล้วเข้าสู่การร่ายกลอนปันตน การขับกลอนสดกาโร๊ะห์บูกยาแลแสดงความเคารพ แล้วจึงนำเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆมาขับร้อง จบการแสดงด้วยบทอำลากาโร๊ะห์วาบูแล