เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน นอกจากแคน พิณ โปงลาง โหวด เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนรักเสียงเพลงดนตรีอีสานแล้ว ซออีสานก็เป็นอีกหนึ่งสีสันของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนอีสานผ่านเส้นลวดคันสีด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหวานปนโศกละห้อยและอารมณ์ที่ผันแปรไปสู่ความสนุกสนานได้ในเวลาเดียวกัน และชื่อของมือซออีสานที่รู้จักกันดีที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือ “ทองฮวด ฝ่ายเทศ” (2483-2554) รางวัลศิลปินมรดกอีสาน2551 ซึ่งได้ฝากเสียงซอเอาไว้ในงานบันทึกเสียง เป็นเสียงสัญลักษณ์ในผลงานของศิลปินหมอลำและเพลงลูกทุ่งอีสานระดับขึ้นหิ้งจำนวนมากมาย อาทิ “อิสานบ้านเฮา”-“ขอหอมก่อนแต่ง” ของเทพพร เพชรอุบล, “สาวอีสานรอรัก” อรอุมา สิงห์ศิริ, “หงส์ทองคะนองลำ” หงส์ทอง ดาวอุดร, “ เสียงซอสั่งสาว” ศรชัย เมฆวิเชียร, “คิดถึงเสียงซอ” สุภาพ ดาวดวงเด่น ฯลฯ มาจนถึงงานของ ไวพจน์เพชรสุพรรณ, พุ่มพวง ดวงจันทร์, บานเย็น รากแก่น, ปริศนา วงค์ศิริ, ยุ้ย ญาติเยอะ, จินตรา พูนลาก, ยอดรัก สลักใจ, พรศักดิ์ ส่องแสง, แดง จิตรกร เป็นต้น
รายการครั้งนี้หยิบยกเรื่องราวของจากเด็กหนุ่มพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่ทุ่มเทความรักให้กับเสียงซอพัฒนาทักษะการสีซอ การคิดเทคนิคเม็ดพรายต่างๆ การสร้างซอ การทดลองเปลี่ยนอคูสติคไปสู่ความเป็นอีเลคทริคการใช้ศิลปินในสตูดิโอ มาสู่ชีวิตของครูผู้ถ่ายทอดดนตรีให้เด็กนักเรียนมากมายในม้องถิ่นอีสาน และการเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาเห็นคุณค่าของเครื่องดนตรีซออีสาน