การสืบทอดสานต่อเพลงซออีสานที่พ่อใหญ่ทองฮวด ฝ่ายเทศ (2483-2554) ปรมาจารย์ซอในตำนานได้เคยฝากความทรงจำในสังคมไทยและในอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งอีสานครั้งอดีต ตกทอดมายังเสียงซอของคนรุ่นใหม่และสิ่งที่อยู่ในโสตประสาทของนักฟังเพลงรุ่นใหม่ นักซอรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เติบโตในวัฒนธรรมดนตรีอีสานเหนือ อีสานใต้และดนตรีเวิล์ดมิวสิค เขาเหล่านั้นได้นำบทเพลงที่เป็นรากเหง้ามาต่อยอด คิดค้นสร้างสรรค์สำเนียงซออีสานเพิ่มเติมขึ้นจากคนรุ่นเก่า นำเสียงซอไปผสมผสานในเพลงอีสานร่วมสมัย เสียงซอที่ไปอยู่ในบรรยากาศของรถแห่ที่อึกทึกครึกโครม รวมทั้งปรากฏการณ์การนำซอเอ้อร์หูของจีนที่มีน้ำเสียงละม้ายคล้ายกันกับซออีสานเข้ามาดัดแปลงทั้งรูปร่างและลีลาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของดนตรีพื้นเมืองทั้งอีสานเหนือและใต้
ตัวอย่างผลงานการบรรเลงซออีสานทั้งซออีสานเหนือและอีสานใต้ (ซอกันตรึม) ของคนรุ่นใหม่ที่นำมากล่าวถึงในรายการครั้งนี้อาทิ สวัสดิ์ สารคาม, มงคล อุทก, กิ่ง เชียงฆะนคร ไพโรจน์ซาวนด์, ภูมิศักดิ์ เสรีสาสีดา, ศรัทธา เชิงหอม, เป้เพชร มหาไถ่, โนชานน ชินราช, ธนโชติ ท่าดี, จั๊ฮ เทอ อย ฯลฯ ในรูปแบบดนตรีหลากหลาย เพื่อให้เห็นว่าซออีสานมีอนาคตที่น่าติดตามเพียงใด