เรื่องระหว่างเส้น ตอน “เรื่องซ้อนเรื่องในละครไทย” ชวนผู้ฟังมาสํารวจละครไทยบางเรื่องที่มีการอ้างอิงถึงวรรณคดีมีทั้งที่อ้างถึงแบบไม่ตั้งใจ และแบบตั้งใจหยิบยกมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในละคร เมื่อเราสามารถคิดเชื่อมโยงละครเข้ากับวรรณคดี เราจะพบว่าบางบทบางตอนในวรรณคดีสําคัญบางเรื่องทําให้ละครมีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น
เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ถูกหยิบมาอ้างอิงในละครปัจจุบันหลายเรื่องเช่น รากนครา, สุภาพบุรุษจุฑาเทพ แต่จะเป็นฉากไหนต้องลองฟัง
หรือละครฟอร์มใหญ่เรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ทางไทยพีบีเอส มีฉากที่อ้างอิงวรรณคดีหลายเรื่อง เช่นละครตอนที่ 7 ตัวละครชื่ออุบากอง เข้าโอบหลังสวมกอดนุชนาฏในร่างของแม่ปิ่นคนรัก แล้วท่องบทกลอนที่ตัดตอนจาก “เพลงยาวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร” หรือเจ้าฟ้ากุ้ง มีเนื้อหาคร่าครวญถึงนางอันเป็นที่รักในทํานองนิราศ
หรือ ฉาก “สีดาลุยไฟ” จุดเปลี่ยนผ่านสําคัญของตัวละครนําสองราย นั่นคือการเปลี่ยนผ่านจากจุดจบของ “ปิ่น” ในอดีต มาเป็นการเกิดใหม่ ฟื้นคืนสติของ “นุชนาฏ” ในปัจจุบัน นอกจากนั้น การรับบท “พระรามแผลงศร” ยังเปลี่ยนผ่าน “หม่องสะ” จากการเป็นศิลปินหนุ่มของราชสํานัก ไปสู่การเป็นนักการเมือง ก็เป็นฉากที่อ้างอิงจาก นาฏศิลป์ “รามเกียรติ์”