ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจําทุกค่ำคืนฯ…
หนึ่งในงานประพันธ์ของ “สุนทรภู่” ที่คนรู้จักอย่างกว้างขวาง
เรื่องระหว่างเส้น ตอนนี้จะพาไปฟังความยอดนิยมของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นกวีเอกของไทย ผู้เป็นบุคคลสําคัญของโลกทางด้านวรรณกรรมที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ในวาระครบรอบวันเกิด 200 ปีของท่าน นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
ผลงานประพันธ์ของท่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลอนแปด มีหลากหลายประเภท ทั้งวรรณคดีนิทาน เช่นเรื่องพระอภัยมณี หรืองานนิราศ งานเขียนเชิงสารคดีที่บันทึกการเดินทางผ่านสถานที่จริง สอดแทรก คําสอนที่เข้าใจง่าย ไม่มีงานแสดงปรัชญาชั้นสูงแต่แฝงคติพุทธแบบชาวบ้าน ทำหน้าที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์และสภาพสังคม วิถีชีวิตในช่วงเวลานั้น ๆ
ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล รองประธานกองทุนอนุสรณ์สุนทรภู่ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาและคติชนวิทยา จะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมผลงานของสุนทรภู่จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในยุคนั้นจนเปรียบเสมือนแบบเรียนให้กับคนในสังคมไทย กลอนแปดลีลาสุนทรภู่กลายเป็นมาตรฐานที่คนไทยรุ่นหลังยึดถือ และมีอิทธิพลอย่างมากต่องานวรรณกรรมมาจนถึงปัจจุบัน