เสาว์ บุญเสนอ มีผลงานนิยายที่เขียนไว้เป็นมรดกทางวรรณกรรมแก่นักอ่านชาวไทยมากกว่า 40 เรื่อง งานเขียนประเภทบทภาพยนตร์เรื่องเดียวของเสาว์ บุญเสนอ เรื่อง "โตนงาช้าง" ทำเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2484 โดยกรมรถไฟหลวง วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความงามภาคใต้ของไทย มี มจ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และ แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นกำลังหลัก ภาพยนตร์ยังสร้างไม่เสร็จก็เกิดสงครามโลก ผ่านไป 10 ปี จึงดำเนินการถ่ายทำต่อในปี พ.ศ. 2494 แท้ ประกาศวุฒิสาร และ นิตยา หัพนานนท์ ได้ขอกรมรถไฟหลวงมาสร้างโตนงาช้างใหม่ และให้ เสาว์ บุญเสนอ เป็นผู้เขียนบทอีกครั้ง
"โตนงาช้าง" เป็นภาพยนตร์สีธรรมชาติ 16 มม. เป็นหนังเงียบพากย์สด ถ่ายทำที่เหมืองแร่ และสวนยางในจังหวัดยะลา ฟิล์มที่ถ่ายมีเพียงก็อปปี้เดียว และยังหลงเหลือได้รับการอนุรักษ์ เป็นหนังที่บันทึกประวัติศาสตร์ของยะลาในปี พ.ศ. 2494 บทภาพยนตร์และภาพยนตร์ "โตนงาช้าง" บันทึกประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ไทยในยุคสมัยนั้น
เสาว์ บุญเสนอ เป็นชาวจังหวัดอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2452 หลังจบมัธยมแปดได้ทำงานที่หนังสือสารานุกูลกับหลวงสารานุประพันธ์ นิยายเรื่องแรกคือ "รถจักร 333" พิมพ์ในปี พ.ศ. 2471 เรื่องที่สร้างชื่อเสียงคือ "สายแดง" ต่อมาได้ทำนิยายเล่มละ 10 สตางค์กับ คณะเพลินจิตต์ ต่อมาทำงานกับประมวลสาร ประมวญวัน ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หลังยุติการเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้มาทำงานแปลบทภาพยนตร์ แล้วกลับไปทำงานเขียนอีกครั้งกับต่วยตูน เสาว์สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการวรรณกรรม เช่น เป็นผู้สร้าง ป.อินทรปาลิต ตั้งชื่อหนังเรื่อง เจมส์บอนด์ ในภาคไทยว่า พยัคฆ์ร้าย 007
เสาว์ บุญเสนอ ใช้นามปากกา ส.บุญเสนอ ส.เนาว์สาย ดุสิต วาสุกรี บุญส่ง กุศลสนอง
เสาว์ บุญเสนอ แต่งงานกับ ศรีสุดา วิคเตอร์
ก่อนเสียชีวิตเสาว์ บุญเสนอ ได้มอบบ้านและที่ดินให้กับสมาคมนักเขียนฯ เพื่อสร้างที่ทำการสมาคมและพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน