ผู้คนทั่วโลกยังสงสัยว่าไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 มาจากไหน
กลางปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนอเมริกันมากมายกำลังติดเชื้อโควิด-19 อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ว่า โควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บในหวู่ฮั่น ประเทศจีน ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องส่งทีมงานไปพิสูจน์เรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้
กลางเดือนกันยายน 2020 มีรายงานข่าวว่า ดร.เหยียน ลี่-ม่อง ซึ่งเป็นแพทย์ (MD.) และนักจักษุวิทยา (Ph.D.) ชาวฮ่องกง ให้สัมภาษณ์ระบุรัฐบาลจีนรู้เรื่องว่า มีการค้นพบ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2019 แต่ปกปิดเอาไว้จนเกิดการระบาดไปทั้งโลก เธอบอกว่า ได้เตือนให้ระวังเชื้อไวรัสตัวใหม่ที่ ติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยอ้างรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล ทำให้แพทย์ตามโรงพยาบาลไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้เธอต้องหนีออกมาสหรัฐเพื่อเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รู้ อย่างไรก็ดี กรณีของ ดร. หยาน หลี่-เหมิง ดูจะจบค่อนข้างรวดเร็ว เพราะมีการด้อยค่าในข้อมูลที่ ดร.หยาน อ้างจากบทความวิจัยของเธอเองที่ตีพิมพ์ในวารสารที่เป็น preprint ซึ่งไม่มีการสอบทานถึงความถูกต้องทางวิชาการ
ผ่านมาราว 1 ปี ในวันที่ 15 สิงหาคม 2021 มีบทความชื่อ Conspiracy theory or reasonable skepticism? Why we should demand an investigation into US labs for origins of COVID-19 (ทฤษฎีสมคบคิดหรือความสงสัยที่สมเหตุสมผล? ทำไมเราควรเรียกร้องให้มีการสอบสวนห้องทดลองของสหรัฐฯ เพื่อหาที่มาของ COVID-19) บอกว่าชาวจีนกว่า 25 ล้านคนได้ลงนามเพื่ออุทธรณ์องค์การอนามัยโลกให้มีการสอบสวนห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของ Fort Detrick (ฟอร์ท เด-ทริค) สังกัดกองทัพบกในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสำนักงานข่าวของสหรัฐอเมริกันบางแห่ง ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่ Fort Detrick พัวพันเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ COVID-19
ในบทความได้ชี้ถึงเบาะแสและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารทางวิชาการและรายงานสาธารณะส่วนหนึ่งจากสื่อของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับ Fort Detrick ซึ่งโยงไปถึงความเกี่ยวข้องกับ ดร. ราล์ฟ แบริค (Ralph Baric) ศาสตราจารย์ในภาควิชาระบาดวิทยาและภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัย University of North Carolina at Chapel Hill
ดร.แบริค เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการปรับแต่งไวรัสให้เปลี่ยนแปลงไปตามต้องการด้วยเทคนิคทางการตัดแต่งพันธุกรรม และถือสิทธิบัตร 13 เรื่องที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตราย 3 ชนิด
ในบทความวิจัยเรื่อง Reverse genetics with a full-length infectious cDNA of severe acute respiratory syndrome coronavirus (การทำงานย้อมกลับหน่วยพันธุกรรมทั้งระบบทำให้ได้ cDNA ซึ่งจำลองเป็นไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างร้ายแรง)
ดร.แบริค ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำวิจัยด้วยได้แสดงศักยภาพของเทคนิคที่คิดค้นชื่อ SARS-CoV reverse genetics system จนสามารถสังเคราะห์ cDNA แบบเต็มความยาวจากหน่วยพันธุกรรม (RNA) ของ SARS-CoV สายพันธุ์ Urbani (SARS มาจากคำว่า Severe Acute Respiratory Syndrome ซึ่งแปลเป็นไทยว่า โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง)
จากเทคนิคดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยสามารถสังเคราะห์ไวรัสโคโรนาในกลุ่ม SARS ที่มีการกลายพันธุ์ตามตำแหน่งที่ต้องการขึ้นมาได้ และสุดท้ายทั้งหมดได้ยื่นขอสิทธิบัตรในสิ่งที่ค้นพบสำเร็จในปี 2007 เป็นสิทธิบัตร patent code US7279327B2.
จากเทคนิคเฉพาะที่ค้นพบนี้ ดร.แบริค ได้เริ่มสะสมตัวอย่างไวรัสโคโรนาจากทั่วโลก ซึ่งนิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 มีบทความเรื่อง “Inside the risky bat-virus engineering that links America to Wuhan” (ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้อเมริกาเกี่ยวข้องกับหวูฮั่นนั้นเกิดเนื่องจากไวรัสในค้างคาวที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม) ได้กล่าวเป็นเชิงว่า ดร.แบริค ต้องการสร้างไวรัสโคโรนาที่แพร่เชื้อได้ดี เพื่อเป็นต้นแบบนำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสโคโรนาทั้งหลายที่ก่ออาการคล้ายโรค SARS ที่ระบาดในปี 2013