เคยได้รับการเสนอให้ซื้อคลอโรฟิลล์ผงซึ่งเมื่อละลายน้ำแล้วได้น้ำสีเขียวในลักษณะเดียวกับน้ำใบบัวบกหรือไม่
• คลอโรฟิลล์ผงซึ่งเรียกว่า คลอโรฟิลลิน (chlorophyllin) เป็นสารเคมีกึ่งสังเคราะห์ที่ดัดแปลงมาจากคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ธรรมชาติที่สกัดออกมาจากใบพืช การดัดแปลงนั้นเป็นการตัดส่วนที่เป็นไฮโดรคาร์บอนซึ่งทำให้คลอโรฟิลล์ไม่ละลายน้ำออกไป เปลี่ยนธาตุแมกนีเซียมที่อยู่ในโมเลกุลไปเป็นธาตุทองแดง และมีการออกซิไดส์บางส่วนของโมเลกุลให้มีการจับตัวกับธาตุโซเดียม ทั้งหมดนี้เป็นการทำให้คลอโรฟิลลินที่ได้ละลายน้ำได้ดี ซึ่งต่างกับน้ำใบบัวบกที่เพียงแขวนลอยในน้ำได้พักหนึ่งก็จะแยกตัว ดังนั้นทุกครั้งที่มีการตักน้ำใบบัวบกใส่แก้วจำต้องมีการคนให้เกิดการกระจายตัวชั่วคราว
• ทั้งคลอโรฟิลล์และคลอโรฟิลลินเป็นสารเคมีซึ่งมีโมเลกุลใหญ่และมีอะตอมของโลหะซึ่งมีประจุ จึงไม่สามารถซึมผ่านผนังของทางเดินอาหารได้
คลอโรฟิลล์และคลอโรฟิลลิน มีประโยชน์เหมือนกันหรือไม่ และประโยชน์นั้นมาจากอะไร
• ประโยชน์นั้นเหมือนกัน เพราะเกิดเนื่องจากโมเลกุลของสารทั้งสองมีส่วนใจกลางที่เรียกว่า วงพอร์ไฟริน (porphyrin ring) ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนกับใจกลางของฮีโมโกลบินในเลือดของคน ต่างกันที่ใจกลางพอร์ไฟรินของคลอโรฟิลล์เป็นแมกนีเซียม คลอโรฟิลลินเป็นทองแดง และฮีโมโกลบินเป็นเหล็ก ส่วนประโยชน์ของโมเลกุลทั้งสามที่เหมือนกันคือ สามารถจับสารพิษที่มีลักษณะโมเลกุลที่แบนราบ (planar form) เช่น โพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน อะฟลาทอกซิน เพราะวงพอร์ไฟรินนั้นเป็นสารอินทรีย์ที่มีรูปสามมิติที่มีลักษณะแบนราบเช่นกัน คุณสมบัติอย่างหนึ่งทางเคมีของสารที่มีลักษณะดังกล่าวนี้คือ มีแรงดึงดูดอ่อน ๆ ทางกายภาพที่สามารถให้สารสองโมเลกุลที่ต่างกันเข้าจับกันในลักษณะประกบกันได้ดีในระดับหนึ่ง งานวิจัยที่อธิบายด้วยกระบวนการนี้มีมากมายทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ฟังต่อใน คิดก่อนเชื่อ