ในช่วงเวลาของสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างอเมริกันและคอมมิวนิสต์โลกในฝั่งเอเชีย โดยมีกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นสมรภูมิหลัก ประเทศลาวถูกผลกระทบจากสงครามครั้งนี้อย่างยิ่งในฐานะสมรภูมิการสู้รบทั้งทางตรงและผ่านกองโจรระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือกับกองทัพสหรัฐ พรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาแทรกซึมในประเทศไทย เพื่อหาแนวร่วมตามแผนทฤษฎีโดมิโน ส่งผลให้รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งอาสาสมัครพลเรือนที่มีจิตสำนึกรักชาติเป็นกลุ่ม “ทหารเสือพราน”หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “นักรบนิรนาม 333” ไปร่วมรบในเขตลาว โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ การฝึกอบรม การเยียวยาผู้บาดเจ็บ รวมไปถึงเงินเดือนของทหารเสือพราน ทหารเสือพรานชุดแรกๆ ถูกส่งเข้าไปประจำ ณ ทุ่งไหหิน ประเทศลาว ในพ.ศ. 2514 การรบดำเนินไปจนถึงปีพ.ศ. 2516 ประเทศลาวได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น มีการลงนามในสัญญาหยุดยิง และถอนทหารทุกฝ่ายออกจากแนวรบ กองทัพทหารเสือพรานของไทยได้ถอนตัวจากลาวเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2517 มีจำนวนทหารเสือพรานที่ถูกส่งไปลาวทั้งหมดประมาณ 30,000 นาย พลีชีพมากกว่า 2,580 นาย บาดเจ็บนับหมื่นนาย ถูกจับเป็นเชลยศึกเกือบสามร้อยนาย และหายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง
.
ตัวอย่างเพลงลูกทุ่งคัดสรรที่เป็นร่องรอยของความทรงจำประวัติศาสตร์บาดแผลในครั้งนี้เช่น เสียงสั่งจากเสือพราน (เพชร โพธาราม - สายัณห์สัญญา), อดีตในเมืองลาว-ลาน้องไปเสือพราน (พนมแสงสุวรรณ), จดหมายจากทหารพราน (แสนสุข แดนดำเนิน), รอทหารพราน (น้องนุช ดวงชีวัน), ทหารพรานที่รัก (อังคนางค์คุณไชย), คิดถึงเสือพราน (พิมพ์ใจ เพชรผลาญชัย) เป็นต้น รวมถึงเพลงเพลงลูกทุ่งยุคต่อมาที่ระบุพิกัดความขัดแย้งในการปะทะระหว่างไทยลาว อาทิหนุ่ม น.ป.ข (สุริยา ฟ้าปทุม), เมีย น.ป.ข. (อุ่นเรือน ราชสีมา), ส่งใจไปร่มเกล้า (จินตหรา พูนลาภ), สุดทางด่านซ้าย (สายัณห์ สัญญา) ฯลฯ