ดินแดนคาบสมุทรมลายา มีคนเชื้อสายทมิฬ (Malaya Tamil) อยู่อาศัยกันมายาวนานเป็นเวลานับพันปี ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน บรรพบุรุษของพวกเขาเดินทางมาจากทมิฬนาฑูอินเดียและศรีลังกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่สมัยโจฬะ-ปัลลวะที่มีอำนาจในอินเดียใต้ในศตวรรษที่ 11 ชาวทมิฬเป็นหนึ่งในกลุ่มการค้าที่สำคัญทางทะเลในคาบสมุทรสุมาตราและคาบสมุทรมาเลย์มาจนยุคการล่าอาณานิคมของอังกฤษที่นำชาวทมิฬเข้ามาเป็นแรงงาน มีบทบาทในการเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณี อินเดียในท้องถิ่นมลายูมากมาย ภาษา อาหาร การแต่งกาย ศาสนาฮินดูพิธีกรรม โดยเฉพาะมีเทศกาล “ไทปูซัม” Thaipusam ของคนทมิฬที่นับถือ “พระมุรุกัน” (Murugan) หรือพระขันธกุมารโอรสพระนางปารวตีอย่างจริงจัง พระมุรุกันเป็นเทพผู้ทรงหอกวิเศษมีฤทธิ์พิชิตอสูรร้ายได้ในช่วงเดือนมกราคมของทุก ๆ ปีจะมีมวลชนจำนวนมหาศาลมุ่งหน้าสู่ถ้ำบาตู (Batu cave) ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์รัฐสลังงอร์ของมาเลเซีย โดยนำเครื่องสังเวยบูชา หม้อน้ำนม มะพร้าว เดินเท้าเปล่าเป็นระยะทางยาวไกลเพื่อถวายเครื่องบูชาแด่พระมุรุกัน มีร่างทรงที่จะเสียบเหล็กแหลมทะลุผิวหนังบริเวณหน้าผาก แก้ม ลิ้น เจาะ หน้าอกและหลังด้วยตะขอที่แขวนไว้กับเครื่องเซ่นไหว้ของใบไม้มะนาวหรือภาชนะโลหะที่ใส่นม แบกโครงโลหะหนักที่เรียกว่ากาวาดีล้วนเป็นสื่อแสดงศรัทธาต่อองค์เทพ นอกจากที่ถ้ำบาตูแล้ว เทศกาลนี้ยังมีในพื้นที่อื่นๆที่มีชุมชนทมิฬอาศัยอยู่อาทิยะโฮร์, เนการีเซมบิลัน, เปรัค, ปีนัง, และสิงคโปร์อีกด้วย
ท่ามกลางพิธีกรรมและวาระการเกิดเทศกาลไทปูซัม จะมีเสียงดนตรีประโคมดังอยู่ตลอดเวลาใช้กลองสองหน้าตีด้วยไม้เสียงกึกก้องเร้าใจ เสียงขับร้องสรรเสริญ เพื่อแสดงความจงรักภักดีเป็น Devotional music ที่น่าสนใจมาก บทเพลงที่ขับร้องใช้ภาษาทมิฬ (คำศัพท์ระหว่างทมิฬมาเลเซียและทมิฬอินเดียมี ความแตกต่างกันมาก) ตลอดจนเกิดการคลี่คลายมาเป็นการสร้างเพลงขับร้องแนวสมัยนิยมเพื่อใช้ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์เทศกาล รายการเพลงดนตรีวิถีอาเซียนครั้งนี้มุ่งสำรวจเพลงเทศกาลไทปูซัมที่สร้างสรรค์โดยศิลปินทมิฬรุ่นปัจจุบันในมาเลเซียที่มีบทบาทในเชิงสังคมอย่างสูง อาทิ Shanthesh Kumar, Veeramanidasan, Om Gam Ganapathi Urumi Melam ฯลฯ เพื่อให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของคนเชื้อสายทมิฬในภูมิภาคนี้