โนราหรือมโนราห์มิใช่เพียงศิลปการแสดงพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆที่มีการแสดงอันเนื่องมาจากเรื่องเล่าปัญญาสชาดกในทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าสุธนชาดก และเรื่องราวเทคนิควิธีของละครพื้นบ้านโนราชาตรีก็มีบทบาทต่อการมีบทบาทในการสร้างสรรค์ศิลปการแสดงของภาครัฐที่มีกรมศิลปากรอยู่ในกำกับด้วย
สืบเนื่องจากวาระการแสดงความชื่นชมยินดีที่องค์กรยูเนสโกได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียนโนราเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (ICH) ประจำปี 2564 รายการเพลงดนตรีวิถีอาเซียนอยากทบทวนถึงร่องรอยของการสร้างสรรค์งานละครเรื่องมโนราห์ของกรมศิลปากร ย้อนหลังไป เมื่อ พ.ศ.2498 ซึ่งปรากฏบทเพลงสำคัญต่างๆที่เป็นผลงานของครูมนตรีตราโมท อาทิ มโนราห์บูชายัญ ไกรลาสสำเริง กินรีร่อน และบทร้องร่ายสำนวนต่างๆ ซึ่งล้วนมีนัยยะการผสมผสานวัตถุดิบทางศิลปพื้น บ้านและศิลปราชสำนักเอาไว้ด้วยกันอย่างลงตัวและโดดเด่นข้ามยุคสมัยมาจนแม้ปัจจุบัน