กลับมาอีกครั้งกับบทความชุด เที่ยวนอกเรื่อง พิซซา: ประวัติศาสตร์พิซซา อาหารสู้ชีวิต ตอนที่ 2 โดยในตอนนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่า ตั้งแต่เริ่มมีอาหารที่เรียกว่าพิซซา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารโปรดของใครหลาย ๆ คน พิซซาได้ผ่านอะไรมาบ้าง
พัฒนาการช่วงแรกของพิซซานั้น จะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและผลผลิตส่วนเกินทางการเกษตรตกแต่งทำหน้า (topping) ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงานและคนทั่วไป จนกระทั่งประเทศต่าง ๆ ในโลกเริ่มออกสำรวจแล้วค้นพบพืชผลแปลก ๆ จึงนำมาประยุกต์ใช้ ทำให้พิซซามีรสชาติและสีสันมากขึ้น
มาการิตาพิซซา
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1522 เป็นครั้งแรกที่ชาวอิตาลีพบมะเขือเทศ พวกเขาไม่กล้าทานเพราะเกรงว่าอาจมีพิษ แต่เมื่อได้ลองแล้วก็ติดใจ จนต่อมามะเขือเทศก็กลายเป็นองค์ประกอบหลักของพิซซาเมื่อ ราฟาเอล เอสโปซิโต (Rafael Esposito) เจ้าของร้านพิซซา "Pizzeria Brandi" ในเมืองเนเปิลส์ นำมะเขือเทศมาแต่งหน้าพร้อมกับมอซซาเรลลาชีส (mozzarella cheese) น้ำมันมะกอก ปลาแอนโชวี่ (anchovy) ใบเบซิล และ กระเทียม ทำให้พิซซาหน้าตาเหมือนกับธงชาติอิตาลี (แดง = มะเขือเทศ, ขาว = ชีส และ เขียว = ใบเบซิล) แล้วนำขึ้นถวายแด่ราชินีมาการิตา ซึ่งราชินีโปรดมากจนเอสโปซิโตนำไปตั้งชื่อว่า Margherita Pizza (มาการิตา พิซซา) และในปี ค.ศ.2009 มาการิตาพิซซาก็ได้รับตรารับรองอาหารประจำชาติ STG (Specialita Tradizionali Garantite) จากสหภาพยุโรป
ทว่าสำหรับชนชั้นแรงงานในยุคนั้น พวกเขายังคงปรุงพิซซาด้วยแป้ง น้ำมันมะกอก มันหมู และสมุนไพรอื่น ๆ เพราะมะเขือเทศยังถือว่าเป็นของหายาก และแม้ว่าต่อมามะเขือจะเทศกลายเป็นผักหาซื้อได้ง่าย แต่ชาวอิตาเลียนก็ยังคงนิยมทานพิซซาที่แต่งหน้าด้วยน้ำมันมะกอก กระเทียม ใบโรสแมรี่ และเกลือเช่นเดิม
ในยุโรป เดิมพิซซาได้รับความนิยมในหมู่ชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เมื่อทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลบุกอิตาลีในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนำอาหารจานนี้มาเผยแพร่ยังบ้านเกิดของตน พิซซาจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วทั้งยุโรป
ส่วนที่สหรัฐอเมริกานั้น ผู้อพยพชาวอิตาลีเป็นผู้เผยแพร่ โดยเริ่มจากนิวยอร์กและกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ร้านพิซซาแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นที่ เจนนาโร ลอมบาร์ดี (Gennaro Lombardi) ตั้งอยู่บนถนนสปริง นิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1905 ใช้ชื่อร้านว่า ลอมบาร์ดี’ส (Lombardi’s) และยังดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ พิซซายังมีบทบาทในด้านการทหารและการเมืองอีกด้วย โดยหน่วยสืบราชการลับที่ 113 สังกัดกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ใช้การส่งพิซซาในการโจรกรรมข้อมูลในช่วงปี 1960 และร้านพิซซาชื่อดังอย่าง พิซซาฮัท ในสหภาพโซเวียต ก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคณะรัฐประหารที่จะยึดอำนาจจาก มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbashev) ด้วยการส่งพิซซาเป็นเสบียงให้ในปี 1991
โอโคโนมิยากิ
ปัจจุบันพิซซาไม่ได้ผูกขาดกับสัญชาติอิตาลีอีกแล้ว เพราะเมื่อมันไปตามที่ต่าง ๆ ก็จะแปลงสัญชาติไปตามที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นพิซซาชิ้นใหญ่ที่เป็นนิวยอร์ก หรือในบราซิลที่จะแต่งหน้าพิซซาด้วยไข่ต้ม ส่วนที่ญี่ปุ่นก็มี โอโคโนมิยากิ พิซซาหน้ามายองเนส สาหร่าย กับ ปลาแห้ง ในจีน มีพิซซ่าหน้าทุเรียน แม้แต่ประเทศไทย พิซซาก็มีทั้ง ต้มยำกุ้ง หรือหน้าไส้อั่ว เป็นต้น
หากอยากทำความเข้าใจและรู้จักเรื่องราวของพิซซ่าให้มากขึ้น ต้องไม่พลาดไปติดตามฟังรายการ "เที่ยวมีเรื่อง กับหมอบัญชา" EP.68 แวะชิมพิซซา ที่นาโปลี เมืองซึ่งอยู่ใกล้กับปอมเปอีและว่ากันว่าเป็นแหล่งกำหนดของพิซซานั่นเอง โดยรับฟังได้ทาง Website | Spotify | SoundCloud | Youtube
เรียบเรียง: จิตริน เมฆเหลือง
กราฟิก: มัณฑนา ยารังษี
ที่มา: