ฝาแฝดวอยเอจเจอร์ เป็นยานอวกาศ 2 ลำที่ถูกส่งออกไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอกในปี 1977 เนื่องในโอกาสหายากที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะทั้ง 5 ในขณะนั้น คือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโต ได้โคจรมาอยู่ในฝั่งเดียวกันของระบบสุริยะ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบกว่า 175 ปี
ปรากฎการณ์ครั้งนั้นเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์สามารถส่งยานอวกาศเพียงลำเดียวเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงได้ด้วยยานอวกาศในภารกิจเดียว แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็มีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่ยานวอยเอจเจอร์ไม่ได้ไปเยือนก็คือ "ดาวพลูโต"
เหตุผลของเรื่องราวดังกล่าวอาจย้อนกลับไปได้ในช่วงการปล่อยยานแฝดสำรวจระบบสุริยะชั้นนอก ไพออเนียร์ 10 และไพออเนียร์ 11 ในช่วงประมาณครึ่งทศวรรษก่อนหน้า ที่ได้เดินทางไปสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ และได้ค้นพบชั้นบรรยากาศหนาแน่นบนดวงจันทร์ไททัน ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารขนาดยักษ์ของดาวเสาร์ ที่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก
ดาวเสาร์ - ที่มา NASA/Pioneer 11
ด้วยเหตุผลนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในยุคนั้นจึงได้ให้ความสนใจกับดวงจันทร์ไททันที่มีระบบนิเวศอันน่าทึ่ง และได้จุดประเด็นของความเป็นไปได้ในการสำรวจดวงจันทร์ไททันต่อในภารกิจวอยเอจเจอร์ แต่เมื่อมองจากเส้นทางการบินของยานแฝดคู่นี้แล้ว หากยานวอยเอจเจอร์สักลำต้องการบินเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ไททันในช่วงหลังจากการสำรวจดาวเสาร์ มันจะหันเลี้ยวออกจากเส้นทางในการสำรวจดาวยูเรนัส เนปจูน รวมถึงพลูโตไป แต่ถ้าหากยานบินจากดาวเสาร์ไปสำรวจดาวยูเรนัสและเนปจูนต่อ มันก็จะไม่อยู่ในเส้นทางการบินไปหาดาวพลูโตเช่นกัน
เมื่อพิจารณาเป้าหมายตั้งต้นของภารกิจในการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอกพร้อมกันหลายดวง ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยานวอยเอจเจอร์อย่างน้อยหนึ่งลำต้องบินไปสำรวจดาวยูเรนัสและเนปจูน ที่หลบออกจากเส้นทางของการสรวจพลูโต โดยวอยเอจเจอร์ 2 ได้ถูกวางเส้นทางไว้เช่นนั้น แต่การตัดสินใจครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับวอยเอจเจอร์ 1 ที่ว่าหากนักวิทยาศาสตร์เลือกที่ไปสำรวจดวงจันทร์ไททัน มันก็จะหลุดออกจากเส้นทางการสำรวจพลูโต แต่หากยานต้องการไปพลูโต มันก็จะไม่สามารถไปสำรวจไททันได้
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว จากข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนั้น ดวงจันทร์ไททันเป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดกว่าอย่างโต้เถียงไม่ได้ จากทั้งข้อมูลทางภูมิศาสตร์และชั้นบรรยากาศที่อุดมสมบูรณ์ ต่างจากดาวพลูโตที่พวกเขาแทบไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับมันเลย
ภาพดาวพลูโตจากยานนิวฮอไรซันส์ - ที่มา NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute/Alex Parker
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวพลูโตกลายเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่ไม่ถูกสำรวจ จนกระทั่งในปี 2015 ที่ยานนิวฮอไรซันส์เดินทางไปเยือนเทหวัตถุฟ้าชิ้นนี้ได้สำเร็จ ถึงแม้ว่ามันถูกจัดกลุ่มใหม่เป็นดาวเคราะห์แคระไปแล้วก็ตาม
ติดตามเรื่องราวยาวนานหลายทศวรรษของความพยายามในการสำรวจดาวพลูโตได้ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "ภารกิจพิชิตพลูโต"
ฟังรายการได้ทาง