ร้านหนังสือภาษาต่างประเทศในแหล่งท่องเที่ยวเช่นย่านถนนข้าวสาร-รามบุตรี เป็นหนึ่งในสถานที่ตัวอย่างที่สะท้อนวัฒนธรรมการอ่านของชาวต่างชาติและชาวไทย รวมถึงเป็นห้องเรียนวิชาวรรณกรรมคลาสสิกและร่วมสมัย, เป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนของผู้คนและหนังสือ, เป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือและสิ่งพิมพ์แห่งศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางยุคดิจิทัล ร้านหนังสือในแหล่งท่องเที่ยวยังเป็นศูนย์รวมเรื่องเล่าของผู้คนจากทั่วโลกที่รอนแรมพเนจรมาที่นี่
หลบมุมอ่านจะพาลัดเลาะถนนข้าวสารและซอยรามบุตรี เพื่อคุยกับ ธาตรี จินตวิจิต เจ้าของร้านหนังสือ #สาระบาน ผู้จะมาบอกเล่าประสบการณ์ มุมมองการทำร้านหนังสือภาษาต่างประเทศมานานกว่า 20 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวเขาพบความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมการอ่าน หนังสือ สิ่งพิมพ์ ของเทศและไทย โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
“สมัยก่อนหนังสือที่ขายดีที่สุด พูดได้เลยคือหนังสือไกด์บุ๊ก หนังสือคู่มือท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีใครถามหาแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Lonely Planet แน่นอน หนังสือที่ขายดีตลอดคือนิยาย วรรณกรรม นักอ่านตะวันตกบางคนเป็นนักสะสม ก็จะซื้อหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ และเน้นซื้อตำราอาหารไทยไปสะสม ส่วนชาวไทยบางทีมาซื้อหนังสือเพื่อไปฝึกภาษา กลุ่มนี้ก็มีอยู่เยอะ” - ธาตรี จินตวิจิต กล่าว