หลายหน่วยงานแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงการใช้กัญชา เรียกร้องให้ออกมาตรการควบคุมการใช้เพื่อความปลอดภัยและต้องเก็บข้อมูลผลกระทบใช้กัญชาเสรี
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กังวลถึงผลกระทบจากการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ทำให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและวัยรุ่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลในประเด็นที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่มีประสิทธิภาพและการตอบสนองของยากัญชามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย และงานวิจัยมีหลักฐานชัดเจนว่าการได้รับสาร THC เป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร จึงมีข้อเสนอให้รัฐออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมให้มีความปลอดภัย
-สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยมาตรการกำกับดูแลอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างเข้มงวด ยึดหลักผู้บริโภคปลอดภัย
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการอนุญาตอย่างเข้มงวด ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ต้องมีความปลอดภัย โดยมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้านต่าง ๆ เช่น จุลินทรีย์ก่อโรค สารปนเปื้อน สารพิษตกค้าง ที่สำคัญคือ ต้องมีปริมาณ THC ไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดจากการประเมินความปลอดภัย ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยมีผลวิเคราะห์ยืนยันพร้อมบังคับให้แสดง คำว่า “กัญชา” หรือ “ส่วนของกัญชา" บนฉลากอย่างชัดเจนในส่วนของชื่ออาหารและส่วนประกอบ รวมถึงแสดง คำเตือน และข้อแนะนำในการบริโภค เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องโดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ชื่ออาหารแสดงชื่อส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงหรือสารสกัด แคนนาบิไดออล (CBD) และข้อความ “คําเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก ระบุข้อความ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพในทางบำบัดรักษา
- คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมประสานโรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชน เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบใช้กัญชาเสรี
สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับจริยธรรมเสริมสวยของแพทยสภา ซึ่งมีเนื้อหาเน้นการรับรองหลักสูตรเสริมความงามระยะสั้น 3 เดือน อบรมแพทย์ตามคลินิกเสริมสวยได้ อาจทำให้การรักษาต่ำกว่ามาตรฐานสากล โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้บริโภค
ฟังรายละเอียดจาก
พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายแพทย์ศัลยกรรม และกรรมการแพทยสมาคม,
ผศ.ดร.นพ.สุธี รัตนมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ และ
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
ช่วงคิดก่อนเชื่อ กับ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยา และชนาธิป ไพรพงค์
ตอน ยาสีฟันสมุนไพรดีต่อฟันเหมือนยาสีฟันธรรมดาหรือไม่