ความนิยมของดนตรีกาเมลันอินโดนีเซียในวิถีอเมริกันร่วมสมัย นอกจากความแพร่หลายทางการศึกษาวัฒนธรรมดนตรีโลกที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นับร้อยแห่งแล้ว คงจะต้องยกความดีความชอบในส่วนของงานสร้างสรรค์ให้แก่ ลู แฮริสัน (Lou Harrison 14 พฤษภาคม 1917 - 2 กุมภาพันธ์ 2003) ดุริยกวีแห่งฝั่งเวสต์โคสต์ผู้บุกเบิกงานคีตนิพนธ์แปลกใหม่ที่เปิดโลกทัศน์ของทั้งคนฟังดนตรีและคนเล่นดนตรีอเมริกันให้ตระหนักถึงการมีตัวตนของดนตรีกาเมลันอยู่ในโลก
.
เขาเป็นศิษย์เอกของเฮนรีโคเวลล์ Henry Cowell (1897-1965) ผู้วางพื้นฐานให้เขารู้จักกาเมลันและดนตรีอื่นๆผ่านชั้นเรียน Music of the People of the World และในความรู้ความสามารถทางด้านการปฏิบัติดนตรีกาเมลันของเขาที่ได้รับคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์อินโดนีเซียและการสั่งสมประสบการณ์ในชีวิตของเขาทำให้ ลู แฮริสัน มีความกล้าที่จะผสมผสานจินตนาการกับดนตรีกาเมลันจนเกิดบทเพลงสำคัญ ๆ หลายชิ้น อาทิ Concerto for Piano with Javanese Gamelan เพลงสำหรับเปียโนและวงกาเมลันชวา, Double Concerto for Violin, Cello and Javanese Gamelan และในงาน Last Symphony No. 4 ที่เล่าถึงตำนานเทพเจ้าในความเชื่อของคนพื้นเมืองอเมริกัน Three Coyote Stories ด้วยลีลาของนักเชิดหนังเงาอินโดนีเซียหรือวายังกุลิต ฯลฯ
.
ทุกวันนี้แม่ว่าลูแฮริสันจะจากไปนานแล้ว แต่งานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นก็ยังมีผู้นิยมนำไปเรียบเรียงและนำออกแสดงอยู่เสมอ