อาหารยามเช้าในหลาย ๆ บ้านมีเมนูที่หลากหลายทั้งอาหารไทยหรืออาหารต่างชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่แทบทุกบ้านจะต้องมีนั้นคือ กาแฟ เครื่องดื่มยอดนิยมที่ทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงอาหารเช้าเท่านั้น แต่กลับเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มทั้งวันสำหรับใครหลาย ๆ คน ทำให้เกิดคำถามที่หลากหลายตามมา เช่น ทำไมบางคนดื่มเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นกาแฟหรือชา สามารถทำให้นอนไม่หลับได้ หรือทำไมบางคนดื่มเท่าไหร่ทำไมยังรู้สึกง่วงนอน แล้วในแต่ละวันดื่มเท่าไหร่จึงจะเรียกว่า พอดี
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ อาจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และวิทยากรรายการโรงหมอ ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ได้ให้ข้อมูลว่า
สารออกฤทธิ์สำคัญในกาแฟคือ คาเฟอีน เมื่อร่างกายได้รับคาเฟอีน ร่างกายของแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนดื่มกาแฟหรือจิบชาเพียงนิดเดียว ทำให้เกิดอาการตาค้าง นอนไม่หลับ เพราะในร่างกายของคนเราจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งในสามารถสลายคาเฟอีนได้ นั้นคือ ไซโตโครมพีโฟร์ฟิฟตี้ (Cytochrome P450) ซึ่งเป็นตัวช่วยดีท็อกซ์ (Detox) หรือกำจัดสารพิษ สารแปลกปลอมและสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกาย
คนไหนที่เอนไซม์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี การกำจัดคาเฟอีนก็จะดีตามไปด้วย จึงทำให้เกิดอาการง่วง แม้จะดื่มกาแฟไปแล้ว ส่วนคนที่เอนไซม์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพจะทำให้เอนไซม์กำจัดคาเฟอีนที่อยู่ในเลือดลดลง ส่งผลให้แม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ตาค้างหรือนอนไม่หลับได้
สมาคมพิษวิทยา (Toxicology) แนะนำว่า ร่างกายของคนเราไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หากเทียบเป็นกาแฟ ควรดื่ม 2 - 3 ถ้วยเล็กต่อวัน หรือ 1 แก้วใหญ่ต่อวัน เท่านั้น
รู้หรือไม่
- กาแฟที่ดีต่อร่างกายคือ กาแฟดำ
- กาแฟมีสารคลอโรจินิก แอซิด (Chlorogenic acid) สารนี้สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งในกาแฟดำจะได้ผลดี
- การดื่มกาแฟดำสามารถลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและสมองเสื่อมได้
- การดื่มกาแฟร่วมกับน้ำส้มคั้นหรือน้ำมะนาวสด จะช่วยลดความเป็นกรดของกาแฟได้ ซึ่งกรดที่อยู่ในกาแฟ ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกบาง
- คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน ไม่ควรดื่มกาแฟ
- ไม่ควรดื่มกาแฟในขณะที่ท้องว่าง เพราะกาแฟจะไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะอาหาร, ลำไส้ และเป็นกรดไหลย้อนได้
- การดื่มกาแฟ จะทำให้ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากคาเฟอีนเป็นตัวขับน้ำและแคลเซียมในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ, ปากแห้ง และผิวแห้งได้
- การดื่มกาแฟมีความเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ให้ดื่มในปริมาณที่พอดี
- สารแทนนิน (Tannin) ที่อยู่ในกาแฟ มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร ดังนั้นเวลาที่ไม่ควรดื่มกาแฟคือ ก่อน, ระหว่างและหลังการรับประทานอาหาร ควรดื่มในระหว่างมื้อจึงจะดีที่สุด
- สารคาเฟอีนในกาแฟ สามารถเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต้องออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วยจึงจะสามารถลดไขมันได้อย่างเห็นผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด