บทความ / อ่านความคิดรัฐบาลจีนผ่าน “สมุดปกขาวแผนพัฒนาซินเจียง”
News & Analysis
อ่านความคิดรัฐบาลจีนผ่าน “สมุดปกขาวแผนพัฒนาซินเจียง”
28 มี.ค. 68
303
รูปภาพในบทความ อ่านความคิดรัฐบาลจีนผ่าน “สมุดปกขาวแผนพัฒนาซินเจียง”

การที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ประมาณ 40 คนที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและถูกคุมขังอยู่นานนับ 10 ปีกลับจีนไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนทำให้รัฐบาลถูกหลายฝ่ายทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ว่าไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้จะถูกรัฐบาลจีนปฏิบัติอย่างไร แม้จะมีคณะตัวแทนไทยไปเยี่ยมเพื่อติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาถึง 2 ครั้ง อีกทั้งรัฐบาลจีนก็ยืนยันว่าจะดูแลเป็นอย่างดี แต่คำมั่นเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความไว้วางใจหรือเพิ่มความน่าเชื่อถือจากสายตานานาชาติและนักสิทธิมนุษยชนที่มีต่อจีนได้มากนัก

คนที่ถูกส่งกลับชุดสุดท้ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวอุยกูร์ประมาณ 300 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 โดยมีจำนวนกว่า 100 คนที่ถูกส่งกลับจีนไปก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2558 ส่วนผู้หญิงและเด็กอีกเกือบ 200 คน ถูกส่งตัวไปตุรกี

ซินเจียงอุยกูร์ - ที่มา Xinhua

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนซึ่งถือว่ามีขนาดของเขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดและกินพื้นที่ประมาณ 1 ใน 6 ของทั้งประเทศ ชายแดนติดกับเพื่อนบ้านถึง 8 ประเทศ คือ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน เติร์กกิสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน รวมทั้งอินเดีย ที่นี่มีแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญต่อประเทศจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางสายไหมโบราณซึ่งเชื่อมต่อทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก การที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีค่านิยมรวมทั้งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือแตกต่างจากชาวจีนฮั่น กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหลายเรื่องในเวลาต่อมา

เมื่อรัฐบาลจีนต้องการเข้าไปกำกับดูแลและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความแตกต่างดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจ มีการใช้อำนาจปฏิบัติต่อชาวบ้านอย่างไม่เหมาะสม นำมาสู่การชุมนุม ประท้วงและเกิดเหตุก่อจราจร ใช้ความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามและกำหนดมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกหลายอย่างในเวลาต่อมา

หนึ่งในเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญคือ เหตุระเบิดและทำร้ายคนด้วยมีดที่สถานีรถไฟอุรุมชีในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายของการเยือนซินเจียงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังเหตุการณ์นี้ ท่าทีของรัฐบาลจีนชัดเจนในการประกาศต่อสู้กับ “ความสุดโต่งทางศาสนา” มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายที่กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายที่เข้มงวดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียงในเวลาต่อมา  รวมทั้งมาตรการปราบปรามการก่อการร้ายผ่านวาทกรรม ‘พลังชั่วร้าย 3 ประการ’ ได้แก่ การก่อการร้าย (terrorism) การแบ่งแยกดินแดน (separatism) และลัทธิสุดโต่ง (extremism) ในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของจีน (Counter-Terrorism Law of the People’s Republic of China) ที่ประกาศใช้ พ.ศ. 2558 แล้วแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2561

การใช้ความรุนแรงในซินเจียงมีอย่างต่อเนื่อง ทางการจีนมักกล่าวโทษกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเช่นขบวนการ ‘อิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก’ (ETIM) ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในซินเจียง แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนรายชื่อกลุ่มนี้ออกจากบัญชีองค์กรก่อการร้ายในปี 2563 เพราะไม่มีหลักฐานการเคลื่อนไหวมานานเกิน 10 ปีแล้วก็ตาม

ข่าวสารที่ทั่วโลกได้รับส่วนใหญ่ เป็นการมองจากภายนอกเพื่อสังเกตปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในซินเจียงสิ่งที่น่าสนใจคือแล้วหากมองจากมุมภายในผ่านแว่นสายตาของรัฐบาลจีน เขาเห็นซินเจียงเป็นอย่างไรและต้องการสร้างมาตรการกำกับดูแลอย่างไร 

คุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยและคณะกรรมการค้าข้ามแดนจีน ซึ่งเคยเดินทางไปเยือนซินเจียงและศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนของรัฐ กล่าวว่า เราสามารถอ่านความคิดของรัฐบาลจีนได้จากแผนพัฒนาในชุดต่าง ๆ สำหรับเขตปกครองพิเศษซินเจียงนี้  มีการเผยแพร่ “สมุดปกขาวแผนพัฒนาซินเจียง” โดย สำนักงานข้อมูลแห่งคณะรัฐมนตรี แผนงานนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในปีพ.ศ. 2578 โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหามาเป็นระยะ ๆ สาระหลักคือการวางแผนงานและนโยบายเพื่อเข้าไปกำกับดูแลและพัฒนาพื้นที่ให้ทันสมัย มีความเจริญ มุ่งสร้างอาชีพและรายได้แก่พลเมือง แต่แนวทางหลายอย่างขัดกับความเชื่อและหลักศาสนาจึงไม่ได้รับการยอมรับ  

“สาระสำคัญที่ระบุในสมุดปกขาวฯ ได้แก่การวางแผนเพิ่มจำนวนโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จากเดิมประชากร 1 พันคนมีแพทย์ 2.7 คนก็จะเพิ่มให้เป็นแพทย์ 7.3 คน โรงเรียนมัธยมศึกษา 16 แห่ง เพิ่มเป็น  281 แห่ง มหาวิทยาลัยจากเดิมมี 1 แห่ง เพิ่มเป็นอย่างน้อย 6 แห่ง เป็นอาชีวะระดับเทียบเท่าปริญญาตรีอีก 1 เพิ่มโรงงานผลิตน้ำประปาสะอาดให้ใช้แทนน้ำบาลดาลในพื้นที่ชนบท เพิ่มระบบคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่ง รัฐบาลจีนหวังว่าเมื่อลงทุนไปแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือธุรกิจท้องถิ่น  ร้านอาหาร หอพัก สถาบันกวดวิชาและธุรกิจอื่นรอบ ๆ  โดยคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มจำนวน GDP ต่อหัวประชากรจาก 166 หยวน ให้เป็น 53,953 หยวน ภายในปี พ.ศ. 2578”

คุณตฤณกล่าวว่า จีนเชื่อมั่นว่าจะทำได้เพราะเขามีระบอบการปกครองที่ควบคุมได้ เขาสามารถสั่งให้เอกชนไปร่วมส่งเสริม ลงทุนและขยายกิจการ เมื่อมีแรงงานฝีมือ มีทักษะแล้วก็สามารถป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้

รัฐบาลจีนคาดว่าจะมีจำนวนประชากรในซินเจียงเพิ่มเพิ่มสูงขึ้นในอัตราแบบทบเท่าทวีคูณ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคนในปี 2573 ทั้งจากปัจจัยการอพยพของชาวจีนมุสลิมจากมณฑลอื่นเข้ามา และการเพิ่มขึ้นของคนมุสลิมในพื้นที่ เนื่องจากกฎหมายควบคุมจำนวนบุตรและการแต่งงานที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้เต็มที่ ทางการจึงต้องการเข้าไปสร้างระบบสาธารณสุขและการศึกษาเพื่อเตรียมรองรับอนาคต แต่กลับถูกต่อต้านจากกลุ่มที่ในสมุดปกขาวเขาใช้คำว่า กลุ่มที่มีความเข้มแข็งทางศาสนา คือหนึ่งในชนวนเหตุให้มีปัญหากับภาครัฐ

รัฐบาลจีนต้องการเข้าไปเปลี่ยนกติกาของชาวจีนมุสลิมในซินเจียง ให้มาใช้มาตรฐานของจีนชาวฮั่น ซึ่งยอมรับกันไม่ได้เพราะมีความแตกต่างในวิถีชีวิตและความเชื่อศรัทธาทางศาสนา  คนจีนรุ่นใหม่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนา แต่มองเรื่องของการให้ผลประโยชน์ตอบแทน หรือการเชื่อในสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้มากกว่า ในขณะที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญพระผู้เป็นเจ้า คือพระอัลเลาะห์ แนวทางที่ขัดแย้งกันเหล่านี้แบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ด้านการศึกษา

เด็กนักเรียนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีน - ที่มา AFP

มุสลิมให้ความสำคัญกับการเรียนรู้หลักศาสนาจากอิหม่ามโดยเป็นระบบเรียนจากครูสอนศาสนา แต่รัฐบาลจีนต้องการเอาเด็กออกจากโรงเรียนศาสนาให้เข้ามาสู่ระบบการเรียนปกติส่วนกลางเพื่อให้มีความรู้ออกไปหางานทำได้ และยกระดับการศึกษาของซินเจียงให้ทัดเทียมมณฑลอื่น ๆ ในสมุดปกขาวฯ ระบุว่า แผนระยะแรก ในปี 2568 นักเรียนต้องจบและมีวุฒิการศึกษาอย่างน้อยม.ต้น การพัฒนาแผนที่ 2 ต้องจบม.ปลาย หรือปวส. นำมาสู่การสร้างศูนย์และค่ายเพื่อเอาเด็กเข้ามาอบรมความไม่เข้าใจและวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มปฏิรูป ทำให้เกิดความขัดแย้งและบานปลายต่อมา

คุณตฤณเล่าประสบการณ์ที่เคยเข้าไปดูศูนย์ฝึกอบรมนี้ในปี 2563 ว่า เป็นอาคารสูงหลายชั้น แบ่งสัดส่วนกัน โดยมีห้องสอนอาชีพและทักษะต่าง ๆเช่นช่างเชื่อม งานไม้ ห้องทดลอง ห้องสมุด ฯลฯ เป็นสัดส่วนแต่ห้ามบันทึกภาพและวิดีโอ เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจึงทราบที่มาของการจับกุมเยาวชนมาเรียนที่นี่

“มีครั้งหนึ่งในช่วงสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยหรือ เกาเข่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญมากสำหรับเด็กจีน ปกติทางการจะเข้มงวดมากเรื่องห้ามเสียงดังและงดใช้เสียงรบกวนสมาธิผู้เข้าสอบ ขนาดห้ามเครื่องบินขับผ่านหลังคาสนามสอบหรือรถยนต์ก็ต้องห้ามเร่งเครื่อง เป็นต้น แต่กลับมีการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อทำพิธีสวดทางศาสนา ทางตำรวจก็ไปห้ามและจับกุม กระทบกระทั่งกันจนมีการออกกฎหมายหรือปิดมัสยิดนั้น แล้วเกิดการประท้วง กลุ่มต่อต้านก็ใช้เด็กเป็นโล่มนุษย์เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พอถูกจับกุมตัวก็เลยถูกส่งมาอยู่ที่อาคารฝึกอบรมนี้”

ความขัดแย้งอีกเรื่องเกิดจากแนวทางปรับปรุงการเรียนการสอนที่แตกต่างกันซึ่งมีความละเอียดอ่อนทางศาสนา การศึกษาในระบบของจีนมีการเรียนเขียนบทความหรือทดสอบทักษะทางภาษาต่างประเทศ บางครั้งชุดข้อสอบอาจมาจากสถาบันต้นทาง แล้วมีประเด็นอ่อนไหวสำหรับชาวมุสลิม

“ข้อสอบ TOEFL หรือ  IELTS  ชุดข้อสอบ มาจากสถาบันต้นทางในต่างประเทศ มีบางคำถามเป็นข้อมูลวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ที่แทรกเรื่องนักบวชหรือคริสต์ศาสนาหรือบทกวีด้านศาสนาที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มไม่พอใจ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกข้อสอบเองมีเนื้อหาของศาสนาอิสลาม ซึ่งในทางปฏิบัติจีนทำไม่ได้  หรือกรณีวิธีการคุมสอบ ในห้องเรียนและห้องสอบจีนจะมีกล้องวงจรปิดติดเพื่อป้องกันทุจริต ตรวจสอบความเรียบร้อย มีกรณีให้นักเรียนหญิงถอดผ้าคลุมชุดฮิญาบออก ไม่ให้สวมผ้าคลุมผมหรือปิดบังใบหน้า เมื่อเด็กกลับไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง เรื่องก็ลุกลามใหญ่โต มีการประท้วง เผาทำลายทรัพย์สินและสถานที่ ผู้ประท้วงถูกจับกุม เมื่อไปจับกุมผู้หญิง ก็ไปกันใหญ่”

 2. ด้านการแต่งงานและการมีบุตร    

ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับพ่อแม่เป็นผู้เลือกคู่ครองให้ลูก และมีหลายครอบครัวนิยมให้ลูกแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ในสมุดปกขาวเขียนว่ามีการแต่งงานทางศาสนาตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ การแทรกแซงของรัฐบาลจีนคือต้องการให้เด็กจบการศึกษาพื้นฐานให้เรียบร้อยก่อน อย่างน้อยมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนการแต่งงานก็ให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ และกำหนดควบคุมให้มีลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 คน (แม้จะผ่อนปรนในพื้นที่ชนบทและขยายให้เป็น 3 คนในเวลาต่อมา) แต่ศาสนาอิสลาม ชายสามารถมีภรรยาได้ 4 คนหญิงที่ไม่มีลูกสืบสกุลจะมีสถานะเป็นรองภรรยาคนอื่นในครอบครัว โดยเฉพาะสังคมจีนที่ชายเป็นใหญ่ อาจถูกกดขี่ข่มเหงรังแกได้

“ถ้าไปเดินในเมืองต่างๆ  แล้วเห็นร้านอาหารหรือร้านขายของ มีผู้หญิงถูกสตรีอีกคนดุด่า หรือทำร้ายร่างกาย อาจเป็นไปได้ว่าเธอคือภรรยาอีกคนที่ไม่มีบุตรหรือไม่ได้เป็นภรรยาเอก หรืออีกหลายกรณี ก็จะแอบมีลูกเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าทำผิดกฎหมายจีน พอผิดกฎหมายปุ๊บ สิ่งที่คุณทำได้ก็มีอยู่สองตัวเลือก คือ 1.หนีการลงโทษทางกฎหมาย แต่เด็กที่เกิดเพิ่มจะไม่ได้รับสิทธิทางการศึกษาและระบบสาธารณสุขพื้นฐานใด ๆ หากพ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายเองก็จะเป็นภาระก้อนใหญ่ หรือ 2.เอาทารกไปขายในตลาด (โดยเฉพาะเด็กหญิงที่มองว่าไม่สามารถเป็นผู้สืบสกุลได้เหมือนเด็กชาย) บานปลายสู่ปัญหาอื่นเช่นการค้ามนุษย์และอาชญากรรม”

หนึ่งในผลงานที่รัฐบาลจีนประกาศว่าต้องการทำเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพลเมืองซินเจียง คุณตฤณเล่าว่า คือการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานที่มีนัยสำคัญ ในปีพ.ศ. 2562 ระบุว่าในพื้นที่ซินเจียง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นฝ่ายบอกเลิกสามีได้หากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรรม (จากเดิมที่ชายมุสลิมต้องเป็นฝ่ายบอกเลิกภรรยาและผู้หญิงอยู่ในสถานะเสียเปรียบกว่า) พร้อมระบุตัวเลขว่า ในปีนั้นมีผู้หญิงที่ประกาศหย่า สูงถึง 228,100 คน แล้วได้เข้ารับการศึกษากับทางรัฐบาลจนได้รับการจ้างงาน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 47.43

“การแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายแต่งงานนี้ ห้ามเด็กแต่งงานเร็วเกินไป ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกหย่าได้ถ้าไม่มีความสุขในครอบครัว แม้จะเป็นเรื่องดีต่อสิทธิสตรีและเด็กแต่ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยมและกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนามากขึ้น เมื่อรัฐใช้อำนาจเชิงบังคับและความเข้มงวดในการปราบปราม ก็ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย”

3. ด้านสาธารณสุข

ชาวอุยกูร์ที่อยู่ด้านนอกมัสยิด Id Kah ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีน - ที่มา AFP

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลจีนสั่งห้ามคนรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะแยกกักตัวแต่ละบ้าน บังคับให้ทุกคนฉีดวัคซีนและต้องรายงานตัวกับทางการอย่างสม่ำเสมอ ห้ามการเดินทางเคลื่อนย้ายสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ มาตรการเหล่านี้ขัดกับหลักความเชื่อและวิถีมุสลิมบางส่วน เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วยและฝ่าฝืนข้อบังคับเช่น มีการรวมกลุ่มเพื่อทำพิธีทางศาสนาในมัสยิด หรือบางคนปฏิเสธการฉีดวัคซีน หรือการที่มุสลิมเคร่งครัดไม่กินเหล้า ในขณะที่ชาวจีนฮั่นถือว่าเหล้าคือเครื่องดื่มเชื่อมสัมพันธ์และมีอยู่แทบจะทุกมื้ออาหาร ดังนั้นการที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้นักธุรกิจนอกพื้นที่ไปค้าขายและเปิดร้านขายแอลกอฮอล์ในซินเจียงก็เป็นเรื่องขัดต่อหลักศาสนาและวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนที่นั่นเหล่านี้เป็นตัวอย่างของแผนพัฒนาที่รัฐบาลจีนมุ่งนำเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองโดยใช้เศรษฐกิจนำ แต่ละเลยความอ่อนไหวและความไม่เข้าใจประเด็นละเอียดอ่อนทางศาสนาที่แตกต่างกัน รวมทั้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัด เข้มงวด จนนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันและบานปลายสู่การใช้ความรุนแรง

คุณตฤณกล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ประเด็นเหล่านี้จะมีทางออกหากรัฐบาลจีน ตั้งใจนำเศรษฐกิจเข้าไปเพื่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง พร้อม ๆ ไปกับการทำความเข้าใจความแตกต่างของของวิถีชีวิตและความเชื่อทางศาสนา


เขียนโดย โสภิต หวังวิวัฒนา 


 


ฟังรายการได้ทาง


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป