หลายคนคงมีความสงสัยกันว่า จริงหรือไม่ โรคที่เกิดขึ้นในช่องปาก จะสามารถทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้...?
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคที่เกิดในช่องปากกับโรคอื่น ๆ พบว่า โรคที่เกิดในช่องปากสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน, หัวใจ, อัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม), รูมาตอยด์ และโรคเกาต์ โดยเฉพาะโรคเหงือกอักเสบหรือรำมะนาดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือติดเชื้ออื่น ๆ สามารถส่งผลต่อร่างกายในส่วนต่าง ๆ ผ่านการไหลเวียนของกระแสเลือดโดยเฉพาะที่หัวใจ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมการสูบฉีดเลือดไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โรคเหงือกอักเสบทำให้เกิดโรคที่หัวใจได้อย่างไร..?
- โรคเหงือก เกิดจากหินปูน, คราบพลัคและแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนผิวฟัน
- แผ่นคราบจุลินทรีย์ เกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาดหรือแปรงไม่ทั่วถึง ซึ่งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ จะอาศัยอยู่ในแผ่นคราบจุลินทรีย์
- เมื่อแผ่นคราบจุลินทรีย์ไปผสมรวมกับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในช่องปาก จะทำให้ตกตะกอนเป็นหินปูน ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก
- เมื่อร่างกายตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อไปทำลายเชื้อแบคทีเรีย
- ร่างกายจะหลั่งสารต้านการอักเสบเพื่อกำจัดเชื้อโรค เช่น สารอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin), พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และทูเมอร์ เนคโครซิส แฟกเตอร์ - อัลฟา (Tumor Necrosis Factor - alpha) ออกมาต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย
- ขณะเดียวกัน เชื้อแบคทีเรียก็หลั่งสารบางชนิดออกมาทำลายเหงือกและกระดูกรอบฟัน
- เมื่อร่างกายและเชื้อแบคทีเรียต่างหลั่งสารออกมา จะเกิดปฏิกิริยาทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบที่มีอาการ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือคนที่สูบบุหรี่ จะยิ่งทำให้เกิดการทำลายของกระดูกรอบฟันมากขึ้น ส่งผลให้ฟันโยกและเป็นหนอง
- คนที่ไม่เคยไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและดูแลรักษาฟัน เชื้อแบคทีเรียจะไม่ถูกกำจัดออก ช่องปากจะกลายเป็นช่องทางของเชื้อโรคอื้น ๆ ที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้
- เมื่อเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือด เลือดจะนำเชื้อไปสู่หัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจและส่วนต่าง ๆ ทำให้เกิดการอักเสบที่หัวใจ
- มีงานวิจัยศึกษาพบว่า มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียจากสารที่หลั่งออกมาจากแบคทีเรียในช่องปาก อยู่ที่หัวใจ
- โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ไม่ได้มาจากช่องปากเพียงอย่างเดียว สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย
- ปัจจุบันมีงานวิจัยศึกษาพบว่า คนที่เป็นโรคเหงือกแล้วสามารถรักษาช่องปากได้อย่างดี ช่วยให้เบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ได้
ทั้งนี้ การทำฟันหรือหัตถการที่ต้องโดนเหงือก เช่น ถอนฟัน, ขูดหินปูน, ผ่าฟันคุด หรือ ขัดฟัน จะมีเลือดออก เชื้อโรคจากช่องปากสามารถเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปติดที่ลิ้นหัวใจ มีความเสี่ยงทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในอนาคต ดังนั้น คนที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ คือ มีประวัติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ, มีความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ, เคยผ่าตัดลิ้นหัวใจ, เคยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม, เคยมีภาวะลิ้นหัวใจติดเชื้อ, เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และมีประวัติปลูกถ่ายหัวใจที่มีปัญหากับลิ้นหัวใจ ต้องแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากก่อนทำฟันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทันตแพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อโรคไปที่ลิ้นหัวใจ
ข้อควรจำและปฏิบัติเมื่อไปพบทันตแพทย์
ก่อนการทำฟันหรือหัตถการทุกครั้ง ต้องแจ้งประวัติสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือภาวะให้เจ้าหน้าที่หรือทันตแพทย์ทราบ รวมถึงประวัติการแพ้ยาและการตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำฟัน
ฟัง Podcast กับรายการโรงหมอ
Website | https://bit.ly/3gd3snj
Apple Podcast | https://apple.co/2zXuHl5
Spotify | https://spoti.fi/2XiymSB
Soundcloud | https://bit.ly/2AMfzr3
Google Podcast | https://bit.ly/2A1qwoe