การฟังเพลงระหว่างทำงานเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบและปฏิบัติเป็นประจำ แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงรู้สึกอยากฟังเพลงในขณะทำงาน และการฟังเพลงระหว่างทำงานมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
การฟังเพลงมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไร?
งานวิจัย The effect of music listening on work performance ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Teresa Lesiuk ได้ทดสอบกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวน 56 คน จากบริษัทซอฟต์แวร์ของแคนาดา 4 แห่ง พบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาต่ำที่สุด เมื่อพวกเขาไม่ได้เปิดเพลงขณะทำงาน ทำให้เห็นว่าการฟังเพลงส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานดีขึ้น การฟังเพลงระหว่างทำงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความสุขในการทำงานได้อย่างมาก หากรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองและสภาพแวดล้อมการทำงาน
1. ช่วยเพิ่มสมาธิและความตั้งใจ
เสียงเพลงที่เหมาะสมสามารถช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือดนตรีคลาสสิก ซึ่งช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน การศึกษาของ Huang และ Shih (2011) จาก 89 คน ที่มีอายุระหว่าง 19 ถึง 28 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 24 ปี พบว่าดนตรีที่มีจังหวะเบา ๆ สามารถช่วยเพิ่มสมาธิของคนทำงานได้และมีผลต่อการทำงานโดยเฉพาะ เพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง
2. ลดความเครียดและความวิตกกังวล
ดนตรีมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา การฟังเพลงที่ชื่นชอบสามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลได้ รวมถึงทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นระหว่างการทำงาน การศึกษาของ Lesiuk พบว่าการฟังเพลงระหว่างทำงานช่วยเพิ่มอารมณ์เชิงบวกและลดความเครียดในหมู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์
3. เพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นพลังงาน
เพลงที่มีจังหวะสนุกสนานหรือให้กำลังใจสามารถเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นพลังงานในการทำงานได้ โดยเฉพาะในช่วงที่รู้สึกเหนื่อยล้าหรือขาดแรงบันดาลใจ โดยผลสำรวจของ Fox และ Embrey พบว่าดนตรีสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในงานที่ซ้ำซากจำเจได้ แม้ว่าจะมีเสียงรบกวนจากภายนอกก็ตาม
4. เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์
สำหรับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดนตรีสามารถช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาหรือท่วงทำนองที่สร้างแรงบันดาลใจ การศึกษาของ Rauscher, Shaw, และ Ky พบว่าการฟังดนตรีคลาสสิกของโมสาร์ทสามารถเพิ่มความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น
การฟังเพลงระหว่างทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น รวมถึงความสร้างสรรค์ด้วย ตัดเสียงรบกวนที่ไม่พึ่งประสงค์ในการทำงาน ทั้งนี้การฟังเพลงระหว่างทำงานก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป การฟังที่ดังเกินไปหรือเพลงที่ไม่เหมาะ ก็สามารถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้เช่นกัน แต่ก็มั่นใจได้ว่า หลาย ๆ ผลวิจัยชี้ไปในทางเดียวกันว่าการฟังเพลงระหว่างทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพในระหว่างการทำงานดีขึ้นจริง