บทความ / โรคไต
โรคไต
08 มี.ค. 67
2,461
รูปภาพในบทความ โรคไต

โรคไต เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้ในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย คิดเป็น 15% ของประชากรไทย และอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากโรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ถูกจัดให้เป็นกลุ่มโรคที่ไม่แสดงอาการ (ภัยเงียบ) โดยส่วนใหญ่จะเจอจากการไปตรวจสุขภาพ บางคนอาจพบในช่วงต้นของโรค แต่บางคนอาจพบในระยะไตวายที่ไตไม่สามารถทำงานได้

โรคไตสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

โรคไตวายเฉียบพลัน

  • เกิดจากภาวะขาดสารน้ำในร่างกาย เช่น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายอยู่ในภาวะขาดเกลือแร่และสารน้ำ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น จนค่าไตวายเพิ่มขึ้น

  • เกิดจากไตมีความผิดปกติที่มาจากโรค เช่น โรคไตอักเสบ โดยผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะน้อยลง บวม และมีความดันโลหิตสูง

  • เกิดภาวะการกดเบียดไต โดยจะมีก้อนหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ไปกดเบียดจนไม่สามารถปัสสาวะได้อย่างปกติ ทำให้การทำงานของไตลดลงเฉียบพลัน

โรคไตวายเฉียบพลัน เป็นโรคที่หากแก้ไขสาเหตุได้ การทำงานของไตจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคไตวายเรื้อรัง

โรคไตวายเรื้อรัง

  • เกิดจากโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน หากไม่ควบคุมหรือรักษาอย่างจริงจัง ภายในเวลา 10-15 ปี พบว่า 30% มีโอกาสเกิดไตวายเรื้อรังได้

  • เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยเฉพาะโรคนิ่ว เป็นผลมาจากการรับประทานผักบางชนิด

  • เกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคไตถุงน้ำ พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการถ่ายทอดภายในเครือญาติ โรคนี้มักทำให้เกิดอาการแน่นท้อง รวมถึงไตกลายเป็นถุงน้ำทั้ง 2 ข้าง

  • เกิดจากการใช้ยาในปริมาณมากและเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน และยาสมุนไพร

ระยะของโรคไตวายเรื้อรัง
สามารถแบ่งได้ 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1-2 เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ ระยะ 3-4 เป็นระยะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน และระยะที่ 5 จำเป็นต้องบำบัดทดแทนไต โดยระยะที่ 3-5 ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอายุรแพทย์โรคไต

สำหรับการบำบัดทดแทนไตในคนที่อยู่ระยะที่ 5 คลินิกไตเทียมได้แบ่งทางเลือกการรักษาจากการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ป่วย คนดูแล และแพทย์เจ้าของไข้ ดังนี้

  1. การฟอกเลือด

  2. การล้างไตทางช่องท้อง

  3. ปลูกถ่ายไต

  4. ดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ และคนที่เป็นโรคมะเร็ง

จากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง สู่การเป็นโรคไตได้อย่างไร
การศึกษาวิจัยพบว่า หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ หรือทำได้แต่ไม่ค่อยดี จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ผิดปกติ ทำให้การทำงานเกิดปัญหา ส่งผลให้โปรตีนรั่วที่ไต เกิดปัญหาเม็ดเลือดแดงรั่วไปยังปัสสาวะ รวมถึงการทำงานของไตแย่ลงในระยะท้าย ๆ ได้ ในส่วนของความดันโลหิตสูง แรงดันเลือดที่สูงขึ้นจะไปทำลายอวัยวะ รวมถึงกระตุ้นสารเคมีบางอย่างที่ทำให้เกิดการทำลายไตร่วมด้วย

เมื่อไตมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
เนื่องจากร่างกายมีไต 2 ข้าง ดังนั้นการทำงานของไตจะเป็นลักษณะช่วยเหลือกัน โดยแบ่งการทำงานข้างละ 70% เท่านั้น และเก็บ 30% ของแต่ละข้างเอาไว้ทดแทนเมื่อมีปัญหา ดังนั้นเมื่อประสิทธิภาพการทำงานลดลง เราจึงไม่รู้สึกเพราะไตจะลดระดับการทำงานอย่างช้า ๆ โดยปกติแล้วไตจะลดประสิทธิภาพการทำงานลงนับตั้งแต่อายุ 30 ปี โดยจะลดลงปีละ 1% แต่สำหรับคนที่มีปัญหาจากการทำงานของไตลดลงจะเกิดภาวะและอาการดังนี้

  1. เกิดภาวะบวมน้ำ โดยภาวะนี้จะเริ่มจากขา สังเกตได้จากการใช้นิ้วกดลงไปแล้วเป็นรอยบุ๋ม เมื่อบวมมากขึ้นอาจมีปัญหาการหายใจผิดปกติ เพราะอาจเกิดน้ำท่วมปอด หรือบริเวณเปลือกตาบวม

  2. ปัสสาวะเป็นฟอง ซึ่งปกติก็เกิดฟองได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่กดหรือราดน้ำมากกว่า 1 ครั้งแล้วฟองไม่หาย นั่นหมายถึงมีโปรตีนรั่วออกมาปะปนกับปัสสาวะแล้ว

  3. ปัสสาวะเป็นสีเลือด หรือมีเลือดสด

  4. ในระยะท้าย ๆ อาจมีความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) มีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้ จะทำให้ร่างกายมีภาวะซีด

  5. เปลี่ยนวิตามินดี (D) ให้ทำงานน้อยลง ทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุนได้

ปัจจัยเสี่ยง

  1. อายุที่เพิ่มมากขึ้นมีความเสี่ยงเป็นโรคไตมากขึ้น

  2. โรคร่วมจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

  3. โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

  4. โรคที่ไม่ได้เกิดจากไต เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus (SLE))

  5. อาหารเสริม สมุนไพร และยาบางชนิด

คำแนะนำ

  1. สำหรับคนที่ไม่มีภาวะขาดสารอาหาร ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ 1.5-2 ลิตรต่อวัน ยกเว้นคนที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือปัญหาการบีบของหัวใจ อาจต้องจำกัดปริมาณการดื่มน้ำตามคำแนะนำของแพทย์

  3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันอิ่มตัวที่ทำมาจากสัตว์และน้ำมันปาล์ม

  4. รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม

  5. เลี่ยงอาหารที่มีโปรแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง เช่น กล้วยทุกชนิด ลำไย ทุเรียน แก้วมังกร คะน้า ผักใบยอด ชะเอม ชะอม ถั่ว งา ธัญพืช ของมักดอก อาหารกระป๋อง กุนเชียง ฯลฯ

  6. ลดการรับประทานอาหารรสเค็ม

  7. หากต้องรรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรชิมก่อนปรุง และลดการรับประทานน้ำซุป

  8. งดหรือเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด เพราะเป็นปัจจัยเร่งให้โรคไตดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น


ข้อมูล: นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เรียบเรียง: เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์


ฟังรายการได้ทาง 


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป