บทความ / ผิวหนังอักเสบจากพิษแมลงก้นกระดก
Health
ผิวหนังอักเสบจากพิษแมลงก้นกระดก
19 ต.ค. 66
4,098
รูปภาพในบทความ ผิวหนังอักเสบจากพิษแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดก (Rove beetles) เป็นแมลงขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มด้วง ลำตัวเรียวยาวเป็นปล้องสีดำสลับสีส้ม ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและชานเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตร ชุกชุมที่สุดในช่วงฤดูฝน ที่สำคัญ ชอบออกมาเล่นแสงสว่างจากไฟฟ้าตามบ้านเรือน

ตามธรรมชาติของแมลงชนิดนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะช่วยควบคุมศัตรูพืชในกลุ่มของหนอนผีเสื้อที่เป็นตัวอ่อน แต่กลับมีพิษสงร้ายกาจต่อผิวหนังของมนุษย์อย่างยิ่งจากสารพิเดอริน (Piderin) สารพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรดชนิดอ่อน การศึกษาพบว่า ตัวเมียมีปริมาณสารพิษชนิดนี้มากกว่าตัวผู้ และแม้ว่าแมลงจะตายไปแล้วแต่สารชนิดนี้ยังคงมีพิษยาวนานนับ 10 ปี และความร้อนไม่สามารถทำลายได้

สารพิเดอรินที่ถูกปล่อยออกมาเป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติของแมลงชนิดนี้ แต่หากผิวหนังของมนุษย์ไปสัมผัสหรือโดน เพียงแค่แมลงบินมาเกาะ หรือจากการปัด บี้ ตี ตบ หรือจับจนสารพิษในตัวแมลงแตกออก ก็ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ และเมื่อเกา จะทำให้สารพิษกระจายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น ผิวหนังก็จะระคายเคืองเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน ที่สำคัญหากพิษไปสัมผัสกับดวงตา ก็มีโอกาสทำให้ตาบอดได้

สำหรับอาการที่เกิดจากสารพิเดอรินในแมลงก้นกระดก จะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ในช่วงแรก แต่จะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะพุพอง ผิวหนังจะเริ่มแดงจากการอักเสบภายใน 12-36 ชั่วโมง มีอาการแสบร้อนและคันในตอนกลางคืน ระคายเคืองรุนแรงในตอนเช้า จุดที่มักพบบ่อย ๆ คือ ใบหน้า ลำคอ และแขน หากเกิดบริเวณข้อพับ รอยจะยาวหรือกว้างใหญ่ขึ้น หากเกาอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่อาการอักเสบของแผลจนทำให้เกิดหนองได้

ในกรณีที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ผื่นและแผลจะหายภายใน 7-10 วัน มักทิ้งรอยดำไว้สักระยะก่อนจะจางหายไปเอง โดยระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของพิษและระยะเวลาที่สัมผัสพิษ

คำแนะนำ

  1. ห้ามปัด บี้ ตี ตบ หรือจับโดยเด็ดขาด ให้เป่าออกไป

  2. หากโดนพิษให้ล้างด้วยน้ำสะอาดเยอะ ๆ ใช้สบู่ฟอก และประคบเย็นบริเวณที่เป็น

  3. ทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ทาเพื่อลดการอักเสบ

  4. ใช้ว่านหางจระเข้ หรือคาลามายด์โลชัน เพื่อลดอาการแสบร้อนระคายเคือง

  5. ไม่ควรเอามือไปแตะที่แผลแล้วขยี้ตา

  6. หากมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

  7. ควรปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด หรือติดมุ้งลวดตามช่องอาคาร

  8. เวลานอน ควรปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม และให้ปิดไฟนอน

  9. กำจัดโดยการใช้ยาฆ่าแมลงได้ แต่การเก็บกวาด ห้ามไปสัมผัสกับซากแมลงด้วยมือเปล่า เพราะแมลงที่ตายแล้วยังคงมีสารพิเดอรินอยู่


ข้อมูลโดย น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ | นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ด่านกักกันสัตว์นราธิวาส
                 ภญ. ดร.กรกช กังวาลทัศน์ | คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์



ฟังรายการได้ทาง


บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป