บทความ / ความไปเป็นได้ของชีวิตในต่างดาว
Sci & Tech
ความไปเป็นได้ของชีวิตในต่างดาว
03 ม.ค. 68
103
รูปภาพในบทความ ความไปเป็นได้ของชีวิตในต่างดาว

หัวข้อคำถามเกี่ยวกับชีวิตในต่างดาวเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไป การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกไม่เพียงแต่เป็นการสำรวจความเป็นไปได้ทางชีววิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดประตูไปสู่ความเข้าใจในจักรวาลและที่มาของชีวิตเองด้วย บทความนี้ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของชีวิตในต่างดาวโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทฤษฎีในปัจจุบัน

แถบเมฆสีดำบนดาวศุกร์

ดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลก ในอดีตมนุษย์เคยจินตนาการถึงการมีชีวิตอยู่อาศัยบนดาวศุกร์ แต่หลังจากช่วงทศวรรษที่ 1950 ที่มีการวัดอุณหภูมิของดาวศุกร์ครั้งผ่านการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ทำให้พบว่าดาวศุกร์มีอุณหภูมิที่มากกว่า 300 องศาเซลเซียส และจากการสำรวจด้วยยานอวกาศหลากหลายลำในช่วงทศวรรษที่ 1960 ก็ได้ค่าอุณหภูมิภายในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในทำนองเดียวกัน

พื้นผิวของดาวศุกร์ร้อนเกินกว่าที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้ แต่ก็ยังมีชุดความคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการมีชีวิตอาศัยอยู่ภายในดาวศุกร์ ในปี 1967 โดย Carl Sagan และ Harold Morowitz ได้ตีพิมพ์บทความลงในวารสาร Nature เรื่อง Life in the Clouds of Venus? ซึ่งบทความนี้ถูกตีพิมพ์ก่อนที่โซเวียตจะสามารถส่งยานไปลงจอดบนพื้นผิวของดาวศุกร์ได้สำเร็จ

บทความนี้ได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ของการจะมีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในกลุ่มเมฆชั้นสูงในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ความดันและอุณหภูมิที่เมฆชั้นสูงของดาวศุกร์มีค่าใกล้เคียงกับชั้นบรรยากาศโลก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตที่อาศัยล่องลอยอยู่ในกลุ่มเมฆได้ สำหรับแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจมาจากฝุ่นละอองที่ล่องลอยมาจากการระเบิดของภูเขาไฟบนพื้นผิวและไอระเหยของบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นผิวที่ระเหยขึ้นมาควบแน่นบนก้อนเมฆ และสร้างพลังงานโดยอาศัยการสังเคราะห์แสง

เมื่อมองดาวศุกร์ผ่านช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต จะพบว่าเมฆบนดาวศุกร์มีบางช่วงที่มีแถบสีดำ มีการตั้งทฤษฎีว่าบางครั้งแถบสีดำเหล่านี้ อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตล่องลอยอยู่ในชั้นก้อนเมฆและดำรงชีวิตด้วยการสังเคราะห์แสงอัลตราไวโอเลตแบบที่ Sagan ได้ตั้งทฤษฎีไว้

ภาพถ่ายชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ซึ่งแสดงให้เห็นแถบริ้วเมฆดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ภาพถ่ายจากยาน Mariner 10 - NASA

ก๊าซมีเทนบนดาวเคราะห์ต่าง ๆ

ดาวอังคาร ดวงจันทร์ไททัน และดาวเคราะห์ก๊าซต่าง ๆ ในระบบสุริยะของเรา มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหนึ่งภายในชั้นบรรยากาศ โดยตามกระบวนการและความเข้าใจของมนุษย์ ก๊าซมีเทนในธรรมชาติเกิดขึ้นจากกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นหากว่ากันตามความเข้าใจแบบเรียบง่าย การพบก๊าซมีเทนบนดาวเคราะห์ดวงอื่นอาจหมายถึงการมีสิ่งมีชีวิตอยู่ภายในดาวเคราะห์ดวงนั้น

ภาพวาดยาน MAVEN ของ NASA ที่มีภารกิจหลักในการติดตามการเปลี่ยนแปลงและตรวจจับก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ซึ่งพบปริมาณการสะสมตัวเป็นปริมาณที่สูงในช่วงฤดูร้อนของดาวอังคาร - NASA

แต่ว่าตามความเป็นจริง การอธิบายในลักษณะนั้นเป็นการอธิบายที่ออกแนวกำปั้นทุบดินเกินไป เพราะในเอกภพของเรายังมีกระบวนการทางเคมีที่ยังไม่ทราบอีกมากมาย ดังนั้นก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นและอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้จึงไม่สามารถตอบได้ว่ามีชีวิตอยู่ในดาวเคราะห์เหล่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม การพบก๊าซมีเทนในดาวเคราะห์เหล่านั้นก็มีความน่าสนใจมาก เช่น ในกรณีของดาวอังคาร เนื่องจากเราพบแล้วว่าในอดีตดาวอังคารเคยมีน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิวของดาวอังคารและใต้พื้นผิวของดาวอังคารปัจจุบันก็มีน้ำที่อยู่ในสถานะของน้ำแข็งอยู่ใต้ดิน จึงเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ภายในดาวอังคาร

โลกใต้เปลือกน้ำแข็ง

อีกหนึ่งความเป็นไปได้ของชีวิตคือมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็ง เนื่องจากดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์น้ำแข็ง อาจมีกิจกรรมที่ธรณีที่แก่นกลางของดาวและดวงจันทร์เหล่านั้นได้ ทำให้น้ำแข็งที่เป็นเปลือกค่อย ๆ ละลายกลายเป็นน้ำ น้ำค่อย ๆ ทำละลายกิน และแร่ธาตุในหินแก่นดาว เกิดเป็นสารละลายที่มีศักยภาพและความเหมาะสมกับการกำเนิดของชีวิตได้

ตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์แกนิมีด และดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ทั้งสามดวงนี้เป็นดวงจันทร์น้ำแข็งที่มีมหาสมุทรที่เป็นน้ำของเหลวอยู่ข้างใต้ หนึ่งในหลักฐานที่สำคัญคือการพบน้ำพุพวยพุ่งออกมาจากเปลือกน้ำแข็งหนาหลายสิบกิโลเมตร

โลกใต้เปลือกน้ำแข็งอาจมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการก่อกำเนิดของชีวิต อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่เป็นเปลือกน้ำแข็งหนายังสามารถทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันภัยจากอวกาศ เช่น รังสีคอสมิก อุกกาบาต ที่จะเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับสิ่งมีชีวิตใต้สมุทร ชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็งน่าจะมีความปลอดภัย หากมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจริงน่าจะสามารถมีอายุของชีวิตได้ยาวนานมากพอที่จะเกิดระบบนิเวศน์ใต้มหาสมุทรได้ เพียงแต่ว่าด้วยเปลือกน้ำแข็งที่หนาหลายสิบกิโลเมตรนี้อาจเป็นสิ่งที่ปิดกั้นการเดินทางออกสู่นอกอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อาศัยอยู่ในนั้น

ภาพเปลือกน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์น้ำแข็ง บริวารของดาวพฤหัสบดี ภาพถ่ายจากยานอวกาศจูโน - NASA

ทั้งดาวเคราะห์และดวงจันทร์ภายในระบบสุริยะของเราเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของรูปแบบชีวิต เพียงแค่ดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ในระบบสุริยะของเราที่อาจเห็นมัน รู้จักมันจนเกิดความรู้สึกซ้ำซากจำเจ ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่

แต่หากมองลึกลงไป เราจะพบว่าดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบสุริยะมีเรื่องที่น่าสนใจมากมายรอทำการศึกษาอยู่และมันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำการศึกษาและคาดการณ์ว่าดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะจะมีสภาพแวดล้อมเช่นไร และโอกาสที่จะมีชีวิตข้างนอกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

การศึกษาตามหาชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากโลกของเรา นอกจากการศึกษาเพื่อไขคำตอบของคำถามแล้ว มันยังช่วยทำให้เราเข้าใจการกำเนิดชีวิตบนโลกของเรามากขึ้นและทำให้เรารู้สึกหวงแหนโลกของเรามากยิ่งขึ้นอีกด้วย


 


ฟังรายการได้ทาง


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป