เมื่อผ่านพ้นเมษายน เดือนที่ร้อนที่สุด ก็ต้องเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูฝน แม้จะเป็นฤดูที่มีความชื้น สร้างความเย็นและชุ่มฉ่ำจากหยดน้ำฝนที่โปรยลงมาจากท้องฟ้า แต่ก็ขอให้ระลึกเสมอว่า "ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น" ดังนั้นความร้อนไม่ได้หายไปไหนเพียงแค่บรรเทาลงจากความเย็นของสายฝนและเมฆที่บดบังดวงอาทิตย์
อากาศที่เปลี่ยนแปลงจากความร้อนสู่ความชื้นเป็นช่วงที่เชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสทั้งหลายเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะฤดูฝนมีโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าฤดูอื่น ๆ ซึ่งมีโรคอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ
- กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่, คออักเสบ, หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบหรือปวดบวม สาเหตุนั้นเกิดได้จากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ติดต่อกันผ่านการไอ จาม หรือมือที่ไปสัมผัสแล้วเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ โดยกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
- กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารปนเปื้นเชื้อโรคหรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือการดื่มน้ำปนเปื้อน ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง, อาหารเป็นพิษ, บิด, ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค
- กลุ่มโรคที่เกิดจากยุงและสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก, โรคไข้สมองอักเสบเจอี, โรคฉี่หนู, โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า รวมถึงอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ
ไม่เพียงแค่โรคจาก 3 กลุ่มข้างต้น ยังพบว่ามีอันตรายที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น อันตรายจากไฟฟ้าดูด จากการจับหรือสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดในขณะที่มือหรือร่างกายเปียกน้ำ
เตรียมตัวรับมือในฤดูฝนอย่างไร
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง
- ภาชนะที่ใช้ต้องสะอาดและเก็บไว้ในที่มิดชิด
- อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทานเสมอ
- ปัสสาวะและถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของและหลังจากใช้ห้องน้ำ
- ถังขยะควรมีฝาปิดและกําจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลอย่างถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
- สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องรักษาความสะอาดเสมอ
- หลังย่ำน้ำให้ล้างมือและเท้าให้สะอาด
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และอย่าให้ยุงกัด
- สำรวจ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
- หากเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์
ข้อมูลจาก พญ. กิตติยา ศรีเลิศฟ้า แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA
เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ฟังรายการได้ทาง