ขั้วโลกเหนือ-ขั้วโลกใต้
วันที่เผยแพร่ : 30 เม.ย. 62
เพิ่มในเพลย์ลิสต์
ดาวน์โหลด
แชร์
หากพูดถึงพื้นที่ที่มีความหนาวเย็นสุดขั้ว ทำให้นึกถึงพื้นที่แถบขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ ซึ่งทั้ง 2 แห่งแฝงไปด้วยความเหมือนบนความต่างกันในหลาย ๆ เรื่อง
ชั้วโลกเหนือ เป็นพื้นที่ที่ผืนน้ำล้อมด้วยผืนดิน นั่นคือ มหาสมุทรอาร์ติก พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยแผ่นน้ำแช็งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำโดยมีความหนาเฉลี่ย 4 เมตร
ขั้วโลกใต้ เป็นพื้นที่ที่ผืนดินล้อมด้วยผืนน้ำ นั้นคือ ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง บางแห่งน้ำแข็งหนาถึง 4,300 เมตร (4.3 กิโลเมตร) และน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้คือ 80% ของน้ำแข็งทั้งหมดที่อยู่บนโลก (ซึ่งรวมถึงในตู้เย็นที่บ้านด้วย) ที่สำคัญ 2 ใน 3 ของน้ำจืดบนโลกนี้อยู่ที่ขั้วโลกใต้
สำหรับความหนาวเย็นของทั้ง 2 แห่ง ก็มีความแตกต่างกัน โดยในฤดูหนาวของขั้วโลกเหนืออุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -30 ถึง -68 องศาเซลเซียส แต่ที่ขั้วโลกใต้หนาวกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยอยู๋ที่ -55 ถึง -60 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 สถานีวิทยาศาสตร์วอสต็อค (Vostok Science Station) ของรัสเซีย ประจำอยู่ที่ขั้วโลกใต้ สามารถทำลายสถิติโลกอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ถึง -89.2 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ขั้วโลกใต้ยังเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุด แถมลมกระโชกแรงที่สุดในโลก ซึ่งพัดด้วยความเร็วลมถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนภูเขาน้ำแข็ง เป็นความสวยงามบนความอันตราย เพราะภูเขาน้ำแข็งในแต่ละก้อน หากคิดเป็น 10 ส่วน จะโผล่พ้นน้ำเพียง 1 ส่วน อีก 9 ส่วนจะจมอยู่ในน้ำ ไม่ว่าก้อนนั้นจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน แต่หากพูดถึงความอลังการงานสร้างความยิ่งใหญ่ของภูเขาน้ำแข็ง ขั้วโลกเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2425 เคยพบขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาว 11 กิโลเมตร ใกล้ ๆ กับเกาะแบฟฟิน ประเทศแคนาดา (เกาะใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก) แต่นั้นก็ยังถือว่าเล็กมาก หากเทียบกับภูเขานำ้แข็งของขั้วโลกใต้ มีความยาวถึง 300 กิโลเมตร ค้นพบโดยเรือบดน้ำแข็ง USS Glacier ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
สำหรับความหลากหลายทางชีววิทยา พบว่า ขั้วโลกเหนือมีพืชกว่า 3,000 ชนิด ส่วนขั้วโลกใต้กลับพบพืชได้น้อยมาก ส่วนปลาน้ำจืด ขั้วโลกเหนือพบ 11 ชนิด ขั้วโลกใต้ไม่พบเลยแม้แต่ชนิดเดียว
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง 2 พื้นที่สุดขอบโลกคือ นกนางนวลแกลบขั้วโลก (Arctic Tern ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Sterna Paradisaea)) เป็นนกที่บินอพยพย้ายถิ่นประจำปีเป็นระยะทางไกลที่สุด ในฤดูร้อนจะผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณขอบมหาสมุทรอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) พอถึงฤดูหนาวก็จะบินอพยพไปอาศัยและหากินที่ทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) พอถึงฤดูร้อนก็จะบินกลับไปอีกรอบ รวมระยะทางบิน 70,900 กิโลเมตร หรือเท่ากับขับรถไปกลับกรุงเทพมหานคร ถึง เชียงใหม่ 60 เที่ยว แต่ตลอดชีวิตการบินของนกชนิดนี้ จะเท่ากับการบินไปกลับโลก ถึง ดวงจันทร์ ราว ๆ 3 รอบเลยทีเดียว (สำหรับเส้นทางการบินของนกชนิดนี้ ต้องฟังในรายการ)
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมหมีขาวจึงล่าแต่แมวน้ำ ไม่เคยล่าเพนกวินเลย เพราะ หมีขาวอาศัยอยู่เฉพาะขั้วโลกเหนือ ส่วนเพนกวินอาศัยเฉพาะขั้วโลกใต้ (แต่บางที 2 ชนิดนี้อาจจะเคยเจอกัน หากไปดูที่สวนสัตว์)
ผู้จัดรายการ
ตอนถัดไป
ตอนที่เกี่ยวข้อง