นลธวัช มะชัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร ได้พูดถึงการทำงานของกลุ่มว่า กระบวนการละครอย่างหนึ่งคือการทำงานร่วมกับตัวบทวรรณกรรม งานวิชาการต่าง ๆ งานค้นคว้าวิจัย สมาชิกในกลุ่มต่างมีความสนใจการอ่าน นำไปสู่การแลกเปลี่ยน และหัวใจของการอ่านคือการค้นหา การสร้าง storytelling หรือเรื่องเล่า narrative บางอย่าง การทำงานระหว่างศาสตร์และศิลป์ของละครกับวรรณกรรม ต้องใช้เวลานานในการเลือกวรรณกรรมสักชิ้นที่มีเสน่ห์ หรือมีจุดแข็งที่จะนำมาสร้างเป็นละครได้ ดังนั้น วรรณกรรมจึงเป็นต้นทางให้พวกเขาใฝ่ฝันและจินตนาการสร้างงานขึ้นมาบนเวทีต่อ
ลานยิ้มการละครสร้างสรรค์งานละครจากหนังสือเรื่อง “สะพานขาด” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ “แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน” ของ อานนท์ นานมาแล้ว และล่าสุดได้รับแรงบันดาลใจ ดัดแปลงส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่อง “โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล” ของ ริชาร์ด บาก และ “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ” ของ แอล.แฟรงก์ โบม เพื่อทำละครเรื่อง “โจนาทาน ชาญวิทย์ แห่งออซ” แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพฯ 2564