Resurrection นวนิยายขนาดยาวเล่มสุดท้ายของ เลียฟ ตอลสตอย ฉบับแปลไทยพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ ชีวิตที่ฟื้นคืน โดย สดใส ขันติวรพงศ์ นับเป็นงานแปลระดับโลกอีกเล่มที่ผู้แปลมีความตั้งใจจะส่งต่อผลงานสู่นักอ่านชาวไทย โดยถือว่าเป็นพันธะหน้าที่ของการเป็นนักแปล งานเขียนเล่มนี้ของตอลสตอยนับว่าเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกประวัติศาสตร์สังคม การเมือง ศาสนา สถาบันตุลาการ ชนชั้น วิถีชีวิตของผู้คน ความรัก และชะตากรรมของตัวละคร ซึ่งสะท้อนภาพของรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ขณะเดียวกันภาพสะท้อนดังกล่าวยังคงวนมาให้ได้พบเห็นในสภาพสังคมการเมืองของไทยและแห่งอื่น ๆ ในสภาพการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่และตัวบุคล อย่างไรก็ตาม ผู้แปล-สดใส เชื่อมั่นในพลังวรรณกรรมในแง่ที่ว่าจะนำไปสู่การเกิดความเห็นอกเห็นใจในตัวผู้อ่าน เข้าใจโลกในตัวเรา อย่างน้อยถ้าเราเกิดพลังนี้ โดยผู้แปลยังได้เล่าให้ฟังถึงพันธะหน้าที่ในการแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ และนำเสนอให้เห็นว่าพลังของวรรณกรรมสร้างแง่งามให้ผู้อ่านเข้าใจโลกในตัวเอง และมีส่วนสร้างพลังรวมของโลกให้ดีขึ้นผ่านการอ่าน