ติดตามประเด็นของผู้บริโภค
ประเด็นที่ 1 อย่าหลงกลโฆษณา “Prosherb” อ้างรักษาต่อมลูกหมากอักเสบหายขาด และฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศชาย พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Prosherb” เลข อย. 10-1-07561-5-0083 ทางเว็บไซต์ https://www.anhtuanpro.website/prosth8
อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า เป็นข้อมูลลวง เนื่องจากเป็นการโฆษณาแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร โดยมีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาให้การรับรองผลิตภัณฑ์ จากการตรวจสอบไม่พบชื่อและนามสกุลจริง และพบว่าวิธีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จะต้องกรอกชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ และกดคำว่า “สั่งซื้อ PROSHERB ตอนนี้” นอกจากนี้ เว็บไซต์โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หากเกิดปัญหาใด ๆ ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จะไม่สามารถตามหาผู้รับผิดชอบได้ ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาลักษณะนี้ และซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน
ประเด็นที่ 2 อย. ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค Bacillus cereus เกินมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลปรุงรส 2 รายการ ที่ผลิตโดย บริษัท กู๊ดดี้ เวิลด์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 73 ซอยเทียนทะเล 30 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล คือ ผลิตภัณฑ์อาหารฉลากระบุ “สาหร่ายทะเลปรุงรสรสดั้งเดิม (ตราหมีแพนด้า) ” เลขสารบบอาหาร 10-1-04153-1-0054 วันที่ผลิต 29/11/2021 วันหมดอายุ 29/11/2022 ตรวจพบ Bacillus cereus เท่ากับ 4,400 CFU/กรัม และผลิตภัณฑ์อาหารฉลากระบุ “สาหร่ายทะเลแห้งปรุงรสรสเผ็ด (ตราหมีแพนด้า)” เลขสารบบอาหาร 10-1-04153-1-0055 วันที่ผลิต 18/11/2021 วันหมดอายุ 18/11/2022 ตรวจพบ Bacillus cereus เท่ากับ 1,700 CFU/กรัม
ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 2 รายการ ที่ฉลากระบุวันที่ผลิต วันหมดอายุดังกล่าวมารับประทาน กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย ขอให้แจ้งร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 Facebook: FDAThai
ประเด็นที่ 3 แพ้กุ้ง แพ้อาหาร
กรณีผู้บริโภคโพสต์เรื่องราวอุทาหรณ์เตือนภัย คนแพ้กุ้ง หลังเจอร้านอาหารทำหางกุ้งปนในอาหาร ผ่านไป 5 นาที ถึงขั้นแพ้หนัก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อ้วกจนล้มฟุบคาโต๊ะ ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนาน 10 วัน และยังมีอาการเนื่องจากการแพ้กุ้งอยู่ และไม่ได้ความรับผิดชอบจากทางร้านตามที่คาดหวัง แต่ส่งผู้จัดการร้านมาพูดคุยเรื่องบิลค่าอาหารในวันนั้น ทางร้านจะรับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้คุยถึงค่าชดเชย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ข้อมูลว่า เมื่อผู้บริโภคแพ้อาหาร และแจ้งกับทางร้านอาหารแล้ว แต่ร้านยังปล่อยปละละเลย ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ตามความผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 กรณีจงใจละเลยทำให้ผู้อื่นถึงแก่อันตราย เรียกค่ารักษาพยาบาลปัจจุบันและอนาคต ไปถึงค่าเสียหายจากการขาดงาน โดยยื่นฟ้องได้ด้วยตัวเองที่ศาลแพ่ง หรือที่ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
ช่วงคิดก่อนเชื่อ กับ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยา และชนาธิป ไพรพงค์
ตอน วัคซีนสู้มะเร็งมีด้วยหรือ