เขตปกครองตนเองซินเจียง มีขนาดใหญ่ประมาณ 1/6 ของประเทศจีน (ใหญ่กว่าไทยประมาณ 3 เท่า) มีพลเมืองเกือบ 20 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นชาวอุยกูร์ที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นพื้นที่อ่อนไหวแห่งหนึ่ง ที่รัฐบาลจีนจับจ้องมองเป็นพิเศษ เพราะมีการก่อการร้ายและใช้ความรุนแรงที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องส่งกำลังเข้าไปปราบปรามหลายครั้ง
ชนวนปัญหาล่าสุด กรณี “แบนฝ้ายซินเจียง” และข้อกล่าวหาการใช้แรงงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ทำให้เกิดการประท้วงและคว่ำบาตรสินค้าจากยี่ห้อดังหลายบริษัทของตะวันตก บานปลายเป็นการใช้แนวคิด “ชาตินิยม” มาต่อต้านชาวตะวันตก เชื่อมโยงไปสู่การตอบโต้ทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐและชาติพันธมิตร เพิ่มความตึงเครียดของสงครามการค้าสองฝ่าย
รัฐบาลจีนใช้แผนแก้จน กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความรุนแรงและความแตกต่างในพื้นที่ทั้งด้านศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรม แนวทางนี้ตอบโจทย์ความจริงในพื้นที่มากน้อยเพียงใด เป็นการกลัดกระดุมถูกเม็ดหรือไม่ โสภิต หวังวิวัฒนา ชวน รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เรื่องนี้