อุทกภัย-น้ำท่วม ประสบการณ์ร่วมของผู้คนที่เกิดและเติบโตกับสายน้ำ ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้อาศัยน้ำในการอยู่อาศัย ดื่มกิน เพาะปลูกพืชผล พัฒนาความเป็นชุมชน สร้างสรรค์วัฒนธรรม จนถึงเกิดการตั้งมั่นขึ้นเป็นสังคมที่เข้มแข็งในเชิงการเมืองเศรษฐกิจ และเมื่อใดก็ตามที่น้ำลงโทษมวลมนุษย์ประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เรียกว่าศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ก็ทำหน้าที่ของมันควบคู่ไปกับข่าวสารข้อมูลที่สะท้อนความทุกข์โศก ความเดือดร้อน สื่อสารให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตกับน้ำได้เรียนรู้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ปลุกปลอบใจ สร้างกำลังใจ ไปจนถึงการชวนให้มองมุมกลับ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสของการต่อสู้ครั้งใหม่หลังน้ำท่วม ทุกข์ภัยธรรมชาติที่คงมีโอกาสผ่านไปให้ได้เช่นเดียวกับฝันร้ายอื่นๆ
เสียงเพลงน้ำท่วมในเมืองไทย ไม่ใช่แต่เพลงที่ ศรคีรี ศรีประจวบ ครวญค่ำเพียงหนึ่งเดียว หากแต่ยังมีเสียงอื่นๆอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้และควรตระหนักต่อไปว่าในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อนพ้องน้องพี่ของเราอีกหลายท้องที่ในโลก ก็ ประสบความทุกข์ร้อนกันไม่น้อยหน้าหรือาจจะหนักยิ่งกว่าไทยเรา
บทเพลงน้ำท่วมครั้งนี้ชวนสำรวจเรื่องเล่าว่าด้วย ทุกข์ภัยอันเกิดจากน้ำที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น