ทั่วทั้งมหาปราสาทนครวัดในกัมพูชา ประดับไปด้วยลายจำหลักภาพเทพอัปสรา หรือ “นางอัปสรา” ที่ปรากฏอยู่ในทุกซอกมุมของปราสาท โดยไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะพบเธอทั้งหลายในท่วงท่าอ่อนช้อย พร้อมกับรอยยิ้มกึ่งสำรวมที่คอยต้อนรับผู้มาเยือน การแต่งกายของนางอัปสราผ่านเครื่องถนิมพิมพาภรณ์สะท้อนถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีในราชสำนักเขมรในอดีต
.
คำว่า “อัปสร” หรือ “อัปสรา” ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู หมายถึงเทพธิดาผู้พิทักษ์เทวสถาน และบาทบริจาริกาผู้รับใช้เทพเจ้า ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติในสาขาวรรณศิลป์ ได้เล่าในหนังสือ "อมนุษย์นิยาย" ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลคำว่า “อัปสร” ว่า “ผู้กระดิกในน้ำ” ซึ่งสอดคล้องกับตำนานที่ว่าเทพธิดาหรืออัปสราเกิดขึ้นจากพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อได้มาซึ่งน้ำอมฤต ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เทพเจ้าและอสูรทั้งหลายมีชีวิตอมตะ
.
นครวัด ซึ่งเป็นมหาปราสาทขนาดใหญ่ มีภาพจำหลักของนางอัปสรามากกว่า 1,800 องค์ และเป็นภาพที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมเขมรอย่างมาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรณนาในหนังสือ "ถกเขมร" ว่า นางอัปสรานครวัดมีรอยยิ้มเหมือนเมฆในยามอรุณ และสำหรับชาวกัมพูชา อัปสรานครวัดถือเป็นต้นแบบของกุลสตรีในอุดมคติ