ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ร่วมกับ ชมรมคนรักมวลเมฆ จัดงาน Sci & Tech Talk ครั้งที่ 2 “สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย” รวมพลคนรักเมฆ อบอวลบรรยากาศความสุข-เยียวยาใจ “แมงกระพรุนลอยฟ้า” - “หมวกเมฆสีรุ้ง” คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดภาพหมวด “เมฆแห่งจินตนาการ” กับ “ปรากฎการณ์ในบรรยากาศโลก”
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ร่วมกับ ชมรมคนรักมวลเมฆ จัดงาน Sci & Tech Talk ครั้งที่ 2 “สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย” โดยนายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวเปิดงานว่า ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญในการพัฒนาเนื้อหาสาระความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน สำหรับท้องฟ้า ถือเป็นสวนสาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่บอกปรากฎการณ์ธรรมชาติว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นด้วย การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้กลุ่มคนซึ่งมีความสนใจเรื่องท้องฟ้าและเมฆเหมือนกันได้มาพบเจอและมีกิจกรรมร่วมกัน
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ หนึ่งในวิทยากรหลักประจำรายการ “Sci &Tech ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์ กล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกชมรมครนรักมวลเมฆมีประมาณ 4 แสนคน ความก้าวหน้าของคนไทยในปรากฏการบนท้องฟ้าถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ผ่านมาได้มีการนำความรู้เกี่ยวกับเมฆและปรากฎการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้าถ่ายทอดในรายการไทยพีบีเอสพอดคาสต์ กว่า 200 EP ซึ่งตอนที่ได้รับความนิยมสูงสุด เช่น ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณอียิปต์ จีน เมโสโปเตเมีย ในไทยการดูเมฆและท้องฟ้าเกิดความรู้ต่าง ๆ มีการรวบรวมที่เป็นระบบมากขึ้น มีการผลิตเป็นหนังสือตำราได้ถึง 8 เล่ม ทำให้คนไทยรู้จักชื่อเมฆชนิดต่าง ๆ หรือปรากฎการณ์บนท้องฟ้าได้อย่างถูกต้อง การมาร่วมจัดกิจกรรมกับไทยพีบีเอสและยังมีถ่ายทอดสดไปสู่สาธารณะ ก็จะเป็นการแบ่งปันความรู้ให้กว้างขวางได้มากยิ่งขึ้น
“ถ้าถามว่าทำไมชอบการดูเมฆ สำหรับตนเอง “เมฆคือความจริง เมฆคือความงาม เมฆคือชีวิต" เมฆคือความจริง เพราะเราเห็นได้รับรู้ได้ เมฆคือความงาม เพราะเมฆเกิดจากธรรมชาติ และเมฆคือชีวิต ที่น่าสนใจคือ เมฆสามารถช่วยเยียวยาจิตใจ ทำให้เกิดความสุข” ดร..บัญชา กล่าว
นางสาวโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล กล่าวว่า ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ มีรายการต่าง ๆ หลากหลายให้บริการแก่ผู้ฟังโดยเฉพาะกลุ่มรายการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะเป็นโอกาสให้คนที่สนใจเรื่องปรากฎการณ์ท้องฟ้าเหมือนกันมาพบกันแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้ฟังรายการ Sci &Tech ได้มาคุยกันอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น
กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากการเสวนายังเปิดให้คนส่งภาพเข้าร่วมประกวดด้วย มีภาพถ่ายส่งมา มากกว่า 200 ภาพ จาก 2 ประเภท คือ เมฆแห่งจินตนาการ และ ปรากฎการณ์ในบรรยากาศโลก แล้วคัดกรองมาจัดแสดงจำนวน 100 ภาพ ผลการประกวดมีดังนี้
ประเภท A – เมฆแห่งจินตนาการ
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “แมงกระพรุนลอยฟ้า” ของคุณทิพาพร เหมือนสมัย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ฟากฟ้าเมืองไทย” ของคุณณอร อ่องกมล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “เรือดำน้ำ” ของคุณอมรชัย ยังสวาท
รางวัลชมเชย ได้แก่
“ดุจดังองค์พระพิฆเนศ” ของคุณธิติพร คงมี
“ลูกเป็ดขี้เหร่” ของคุณชัยฤกษ์ ศิวะบุตร
“นกฟินิก ในยามเช้า” ของคุณอนุชา มาลาขาว
“วันสิ้นโลก” ของคุณนิติพรรณ แสงศิลา
“พี่โลมาหนีเร็ว จระเข้มาแล้ว” ของคุณวิภาศิริ ชูฤกษ์
ประเภท B – ปรากฎการณ์ในบรรยากาศโลก
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “หมวกเมฆสีรุ้ง”ของคุณนลิน ทองใหญ่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ภูบรรทัดเสียดเมฆา” ของคุณทรงกลด กะเส็ม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ปรากฎการณ์เวอร์กา” ของคุณชนะ อ่องเอี่ยม
รางวัลชมเชย ได้แก่
“เมฆาฟ้าสีรุ้ง” ของคุณสุปราณี หมู่พงศ์สุวรรณ
“ฟ้าประทาน” ของคุณไพศาล ช่วงฉ่ำ
“เมฆเลนส์” ของคุณกิติวรรณ ไทยานันท์
“เปิดม่านบาเรีย” ของคุณเชษรฐา ละดาห์
“Stacked lenticular clounds @Chonburi” ของคุณนพมณี สงวนพงษ์
รับชมคลิปเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook และ Youtube
สามารถติดตามไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ได้ที่ Facebook, YouTube Thai PBS Podcast และติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS