
วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็น วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และส่งเสริมให้มีการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากทุกวันนี้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่สูญเสียทรัพย์สินไปโดยไม่รู้ตัวจากภัยออนไลน์ ที่สามารถมาถึงตัวได้ตลอดเวลาแม้เราจะนั่งเฉย ๆ อยู่ในบ้าน
ในโลกยุคดิจิทัลที่แสนสะดวก รวดเร็ว หากเราตามไม่ทันอาจเสียรู้และเสียเปรียบ โดยเฉพาะระบบการเงินที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่าง ดิจิทัลแบงก์กิ้ง (Digital Banking) ทำให้การทำธุรกรรมการเงินในปัจจุบันง่าย เพียงใช้ปลายนิ้วกดเข้าแอปพลิเคชันของธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถฝาก ถอน โอนเงิน ชำระเงิน กู้ยืม ซื้อบริการประกัน ได้ในเวลาไม่กี่วินาที ไม่ต้องไปธนาคารให้เสียเวลา มีการคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะมีผู้ใช้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ระบบที่แสนสะดวกสบายนี้ก็ยังมีปัญหา เช่น ผู้บริโภคโดนหักเงินจากบัญชีธนาคารโดยไม่รู้ตัว
การนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ คือการนำระบบการเงิน (Financial) ผนวกเข้ากับ เทคโนโลยี (Technology) เรียกว่า ฟินเทค (Fintech) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ แก้ปัญหาทางการเงิน สร้างแนวทางในการทำธุรกิจใหม่ ๆ จัดการและเข้าถึงการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้น หรือแม้แต่การบริหารจัดการความมั่งคั่ง ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภค ในปัจจุบันฟินเทคมีหลายรูปแบบ เช่น
1. ระบบธนาคาร (Banking Technology) โดยใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เช็กยอดบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล ด้วยตนเองผ่านมือถือ (Mobile Banking) เหมือนกับการทำงานในรูปแบบที่ธนาคารแบบดั้งเดิม
2. ระบบการจ่ายเงินแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้ เช่น Rabbit Line Pay และ True Money
3. การลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) ซึ่งเป็นการสมมติชุดข้อมูลขึ้นมา แล้วทำให้ใช้งานได้เหมือนเงินจริง ใช้จ่ายได้ เก็งกำไรได้ เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นต้น
อนึ่ง ปัจจุบันมีภัยออนไลน์เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยเช่น แอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังหลอกให้ผู้กู้โอนเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อนได้เงินกู้ด้วย
ภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยคือการหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันหลอกลงทุน ซึ่งหาข้อมูลได้ง่ายมาก เพียงพิมพ์แฮชแท็ก (#) ตามด้วยคำว่า ลงทุนออนไลน์ ก็จะพบแอปพลิเคชันเหล่านี้จำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยมีสิ่งจูงใจด้วยโฆษณาที่ให้ผลตอบแทนสูง ทั้งนี้ เคยมีเด็กแอบนำบัญชีของพ่อแม่ ไปลงทุนกับแอปพลิเคชันจำพวกนี้แล้วเสียเงินไปหลายแสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพหลอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ส่ง SMS หลอกลวง หรือกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาพูดจาโกหกหลอกลวงทำให้เหยื่อกลัว จนบางครั้งไม่ทันได้ตรวจสอบและหลงกลโอนเงินให้แก๊งเหล่านี้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมากก็ยังคงมีอยู่ แม้หลายคนจะใช้วิธีรับมือสารพัด ทั้งบล็อกข้อความ บล็อกเบอร์โทรหรือแกล้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับ อัดคลิปโพสในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกเอาเงินจากบัญชีเราได้ ยังสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้บริโภคไม่หยุดหย่อน เพราะถึงแม้ตำรวจจะพยายามประสานการจับกุมกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถสาวถึงต้นตอซึ่งก็คือนายทุนต่างชาติรายใหญ่ได้ รวมถึงยังไม่สามารถคลายข้อสงสัยได้ว่า เพราะเหตุใดเราจึงพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ และที่สำคัญคือ เบอร์โทรศัพท์ของเราไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพได้อย่างไร
นอกเหนือไปจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสารพัดปัญหาที่เกี่ยวกับการเงินออนไลน์ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องว่า ถ้าเกิดถูกหลอกจะมีการปิดกั้น หรือล็อกบัญชีอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เงินถูกโอนไปยังบัญชีมิจฉาชีพปลายทางได้หรือไม่ เราสามารถเรียกร้องเงินคืนได้อย่างไร ? จะมีวิธีใดที่จะนำมากำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคได้บ้าง ?
ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางด้านการเงินอาจมีภัยคุกคามที่แฝงมาในรูปแบบดิจิทัล การหาความรู้เพื่อให้เท่าทันต่อภัยคุกคามการเงินออนไลน์ เป็นการป้องกันตนเองและคนในครอบครัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในเบื้องต้น แต่หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลอย่างตำรวจ ก็พยายามปรับรูปแบบการปราบปรามภัยออนไลน์โดยเปิดให้แจ้งความออนไลน์ เช่น ทางศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) ที่เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ เดินทางไปร้องเรียนที่ ศูนย์บริหารการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1441 และร้องเรียนทาง www.thaipoliceonline.com
แต่ก็มีข้อเสนอว่า ควรเป็นศูนย์บริการแจ้งความออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องไปติดต่อแจ้งความหลายหน่วยงาน และอีกสิ่งที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการเงินออนไลน์ได้ คือต้องเตรียมตัว เรียนรู้ และป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การผูกบัญชีธนาคาร กับบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือแอปพลิเคชันธุรกรรมการเงินแค่บัญชีเดียว และไม่ใส่เงินในบัญชีจำนวนมาก อาจจะใส่เงินแค่หลักพันบาท เมื่อจะใช้เงินจึงค่อยโอนจากบัญชีอื่นเข้าบัญชีที่ผูกกับบัตร เพราะถ้าหากบัญชีถูกแฮ็ก จะได้ไม่เสียเงินจำนวนมาก หรือก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับประเด็นหลักในการรณรงค์ วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ในปีนี้ มาภายใต้หัวข้อ “การเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม” (Fair Digital Finance) ชวนคิดว่า ในเมื่อโลกก้าวเร็วมาก แต่ผู้บริโภครู้ไม่เท่ากัน เมื่อเกิดปัญหาจะสามารถร้องเรียนเพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็วอย่างไร และการกำกับดูแลจากหน่วยงานจะทำอย่างไรให้เป็นธรรม เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรฐานการควบคุมสถาบันการเงินในการออกแบบระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์อย่างเป็นธรรมได้อย่างไร ทั้งต่อสถาบันการเงินและคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ในส่วนของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะปรับปรุงกฎหมายและทำงานเชิงรุกต่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินออนไลน์อย่างไร และตอนนี้มีสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งมีภารกิจหนึ่งคือ นโยบายด้านการเงินและการธนาคาร ที่เกาะติดปัญหารับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงตัวผู้ประกอบธุรกิจเอง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้บริการการเงินที่ถูกกฎหมาย มีการดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษที่ชัดเจนและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
แต่ทั้งหมดนี้ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาภัยออนไลน์การเงินดิจิทัลได้ คงต้องประสานการทำงานร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคต้องร้องเรียนตามช่องทางเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา สุดท้ายนี้ ขอยกสโลแกนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาบอกว่า บ่นพันครั้ง ไม่เท่าร้องเรียนครั้งเดียว
เหล่านี้คือการรู้เท่าทันภัยออนไลน์ โดยเฉพาะในเรื่องของดิจิทัลแบงก์กิ้ง นอกจากประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว ผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของผู้บริโภคได้ในรายการ ภูมิคุ้มกัน ทาง www.thaipbspodcast.com
ฟังรายการ ภูมิคุ้มกัน ทาง Thai PBS Podcast
คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast
หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast
สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่
เรียบเรียง: ชนาธิป ไพรพงค์
กราฟิก: มัณฑนา ยารังษี