"ถ้าพวกคุณตัดความร่วมมือกับเรา ใครจะเป็นคนควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติไม่ให้หลุดจากวงโคจร และตกลงไปยังสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป?"
ดิมิทรี โรโกซิน (Dmitri Rogozin) อดีตผู้อำนวยการองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย หรือ Roscosmos ในขณะนั้น ได้ทวีตข้อความดังกล่าวตอบโต้แถลงการณ์คว่ำบาตรรัสเซียของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 หรือ 1 วันหลังจากที่กองทัพบุกเข้าสู่พรมแดนยูเครนเต็มรูปแบบ คำกล่าวที่อาจมองได้ว่าเป็นคำขู่นี้ ได้แสดงให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของความสัมพันธ์ของวงการอวกาศโลกที่แสดงออกผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างชาติครั้งใหญ่อย่างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) ทั้งในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเมือง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อความดังกล่าวของโรโกซินก็ไม่ผิดสักทีเดียว โครงสร้างของสถานีอวกาศนานาชาติ ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนย่อย ๆ เปรียบเสมือนตัวต่อที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศทีละชิ้น และประกอบกันบนวงโคจรโลก ส่วนที่อยู่อาศัยและห้องทดลองที่นักบินอวกาศขึ้นไปทำภารกิจ มีลักษณะเป็น "โมดูล" เล็ก ๆ โดยมีชิ้นส่วนอื่น ๆ อย่างแผงโซลาร์เซลล์ แขนกล หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ติดอยู่รอบข้าง ซึ่งเมื่อมองจากภาพรวมแล้ว เราจะสามารถแยกสถานีอวกาศนานาชาติออกเป็นสองส่วนคือ ฝั่งของรัสเซีย และฝั่งของสหรัฐฯ ที่มีแนวเชื่อมต่ออยู่ที่โมดูล Unity (Node 1) ของสหรัฐฯ และ Zarya ของรัสเซีย
ตามที่โรโกซินกล่าว ชิ้นส่วนทรัสเตอร์ (Thruster) ที่ไว้ใช้ควบคุม รักษาวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นชิ้นส่วนที่ถูกควบคุมโดยฝั่งรัสเซีย เพราะฉะนั้นหากสองฝั่งของสถานีอวกาศแยกออกจากกันจริง ๆ ส่วนของสหรัฐฯ ก็จะตกลงสู่โลกในที่สุด แต่สิ่งที่โรโกซินไม่ได้กล่าวไว้คือ ฝั่งรัสเซียเองก็พึ่งพาระบบพลังงานและระบบพยุงชีพจากฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน เพราะฉะนั้นหากขาดฝั่งสหรัฐฯ ไปแล้ว ฝั่งรัสเซียก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังคำพูดของ ลอเรน กรัช (Loren Grush) นักข่าวด้านอวกาศชื่อดังได้กล่าวไว้ ในกรณีของสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งสองขั้วก็ยังคงถูก “ล่าม” ได้ด้วยกัน อย่างน้อยก็อีกนับปีจนกระทั่งทั้งสองฝั่งสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ฝั่งตัวเองขาดหายและส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศให้ได้เสียก่อน
กลางปี 2022 ยูริ โบริซอฟ (Yury Borisov) ผู้อำนวยการคนถัดมาของ Roscosmos ประกาศแผนตัดความร่วมมือสถานีอวกาศนานาชาติ โดยวางตารางคร่าว ๆ ไว้ให้โมดูลของฝั่งรัสเซียแยกตัวออกจากฝั่งสหรัฐฯ ภายในปี 2024 แต่ฝั่งนาซ่าได้ตอบกลับกับสาธารณชนในกรณีนี้ว่า ทางหน่วยงานยังไม่ได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการจากฝั่งรัสเซีย ในช่วงปลายเดือนกันยายน โบริซอฟได้กล่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ฝั่งรัสเซียจะยังคงความร่วมมือสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงในปี 2028 ซึ่งเชื่อได้ว่าจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่กล่าวมาในข้างต้น
จนถึงทุกวันนี้ความร่วมมือระหว่างชาติของสถานีอวกาศนานาชาติยังคงดำเนินอยู่ต่อไป (ถึงแม้อาจดูเหมือนถูก "ล่าม" ติดไว้ด้วยกันดังคำพูดของกรัช) โดยในปัจจุบันยังคงมีนักบินอวกาศจากทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และรัสเซียทำงานด้วยกันบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ยังคงเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไป เมื่อเส้นตายที่รัสเซียได้กล่าวไว้ใกล้มาถึง ชะตากรรมของโครงการความร่วมมือยักษ์ใหญ่นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสถานีอวกาศ "นานาชาติ" ไร้รัสเซีย