บทความ / 25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ
History
25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ
25 ก.พ. 66
2,097
รูปภาพในบทความ 25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

วิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อที่มีวิวัฒนานาการมาอย่างช้านาน มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สื่อสารด้วยเสียง ซึ่งจะต้องรับฟังผ่านเครื่องรับวิทยุ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทดลองส่งวิทยุโทรเลขไปตามสายของ แซมมวล เอฟ. บี. มอส (Samuel F.B. Morse) ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2380 ที่เราเรียกันว่า รหัสมอร์ส (Morse Code) ต่อมาปี พ.ศ. 2423 ไฮน์ริช รูด็อล์ฟ เฮิรตซ์ (Heinrich Rudolf Hertz) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ค้นพบคลื่นวิทยุ (Radio Wave) อีก 15 ปีถัดมาในปี พ.ศ. 2438 กูลเยลโม มาร์โกนี (Guglielmo Marconi) วิศวกรไฟฟ้าชาวอิตาลี ค้นพบการส่งคลื่นวิทยุไปในอากาศ และคิดค้นเครื่องรับส่งวิทยุได้สำเร็จ

หลังจากนั้นอีก 25 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2463 เกิดสถานีวิทยุกระจายเสียง KDKA ที่เมืองพิตส์เบิร์ก เป็นสถานีวิทยุแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา โดยได้ถ่ายทอดเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือ Warren G. Harding และในปี พ.ศ. 2465 ประเทศอังกฤษ ได้จัดตั้งสถานีวิทยุบีบีซี (BBC Radio) รวมถึงอีกหลายประเทศที่เริ่มจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในประเทศของตนเองเพื่อกระจายข่าวสาร รวมถึงประเทศไทยที่เริ่มต้นนำการสื่อสารในรูปแบบนี้เข้ามาใช้งานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470
 

พัฒนาการกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

ในปี พ.ศ. 2470 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม (บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย) ทรงสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นมาทดลองใช้ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยในปี พ.ศ. 2471 เกิดสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น คือ สถานีวิทยุ 4 พีเจ ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ และ สถานี 11 พีเจ ตำบลศาลาแดง ใช้เครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ (พีเจ คือตัวย่อพระนาม บูรฉัตรไชยากร) โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เป็นจุดกำเนิดเริ่มการถ่ายทอดกระจายเสียงทางวิทยุขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท (กำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์) อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล

“การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป”


และในปีเดียวกันนี้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข พ.ศ. 2473 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นเจ้าของเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงได้

เมื่อเข้าสู่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตยของประเทศสยาม (ชื่อในขณะนั้น) โดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สื่อวิทยุกระจายเสียงได้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐบาลใช้สื่อสารกับประชาชน และมีพัฒนาการนอกเหนือจากให้ความรู้ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงแก่ผู้ฟังแล้ว ก็ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการค้า การตลาดและการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคธุรกิจด้วย

ปี พ.ศ. 2482 เกิด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานโฆษณาการ หรือ กรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน ถัดจากนั้น 2 ปี ในปี พ.ศ. 2484 ได้เกิดเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia War) หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสถานีวิทยุศาลาแดง ได้รับเสียหายจากการทิ้งระเบิดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ต้องหยุดการทดลองวิทยุกระจายเสียงไปในเดือนเมษายน โดยสงครามนี้ได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2488 หลังจากประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู (ระเบิดนิวเคลียร์) ที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่เมืองฮิโรชิมะ และนางาซากิ โดยญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และยุติสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488

ระเบิดปรมาณูแฟตแมน (Fat Man) ที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. โดยกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ออกอากาศครั้งแรก เพื่อสำรองใช้กรณีสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ และออกอากาศคู่ขนานกันนับแต่นั้นมา และในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลยกเลิกการควบคุมกิจการกระจายเสียงเดิมที่อยู่ภายใต้ 2 หน่วยงานคือกรมไปรษณีย์โทรเลขและกรมประชาสัมพันธ์ โดยอนุญาตให้หน่วยงานราชการอื่นตั้งสถานีวิทยุได้
 

15 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นวันก่อตั้ง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เพื่อเป็นสื่อบริการแพร่ภาพและกระจายเสียงไปสู่สาธารณะ ขณะนั้นได้ร่วมกับเครือข่ายครอบครัว ผลิตรายการออกอากาศทางคลื่น วิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105 MHz. จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนการออกอากาศผ่านวิทยุออนไลน์ภายใต้ชื่อ วิทยุไทยพีบีเอส (Thai PBS Radio) ปัจจุบันได้ยุติการออกอากาศในรูปแบบวิทยุออนไลน์ สู่การทำรายการประเภทพอดคาสต์ (Podcast) ภายใต้ชื่อ ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ (Thai PBS Podcast) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งสามารถฟังผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Thai PBS Podcast

 

ติดตามทุกช่องทางออนไลน์ของ Thai PBS Podcast

ดาวน์โหลดและติดตั้ง
คลิก : https://thaip.bs/AppThaiPBSPodcast
หรือสแกน QR Code

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป