บทความ / พาสตามาจากไหนกันแน่
Lifestyle
พาสตามาจากไหนกันแน่
23 ก.พ. 66
7,204
รูปภาพในบทความ พาสตามาจากไหนกันแน่

พาสตา คือ ชื่อเรียกของอาหารอิตาลีประเภทเส้นที่ทำจากแป้งสาลี, น้ำ, ไข่, เกลือ และน้ำมัน จากนั้นนำมารีดเป็นแผ่น หรือตัดเป็นเส้นทำให้สุกโดยการต้มรับประทานกับซอสหลากหลายประเภท หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับอาหารที่มีชื่อเรียกว่า สปาเกตตี, เพนเน่ หรือลาซานญา จริง ๆ แล้วทั้งหมดเหล่านั้นเป็นหนึ่งในประเภทของ “พาสตา” เท่านั้น 

เรื่องความอร่อยและการได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายของพาสตานั้นคงไม่มีใครปฎิเสธ แต่เรื่องที่ถกเถียงกันมานานคือมันมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ไหน เราเคยได้ยินจากประวัติศาสตร์อิตาลีว่า “มาร์โค โปโล” นักเดินทางชาวอิตาเลียนนำเข้าบะหมี่จากจีนในปี ค.ศ. 1275 - 1295 จนพัฒนาเป็นพาสตาในที่สุด

ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าชาวโรมันเคยทำแป้งโดจากแป้งรวมกับน้ำ จากนั้นก็รีดและตัดเป็นเส้นรับประทานกับซอสลักษณะคล้ายลาซานญาโดยใช้วิธีอบให้สุกแทนการต้ม แต่แนวคิดนี้ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากการทำลาซานญาด้วยวิธีอบไม่สามารถพัฒนาให้เปลี่ยนเป็นพาสตาแบบเส้นได้ 



สมมุติฐาน สุดท้ายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ เส้นพาสตาเกิดจากชาวอาหรับ หรือชาวซิซิเลียน เป็นอาหารของอิตาลีมาตั้งแต่โบราณ โดยมีนักสำรวจพบภาพวาดตามกำแพงในหอเก็บศพของชาวอิตาเลียนโบราณจากอารยธรรมอีทรัสคัน (Etruscan civilization) มีรูปเครื่องมือ เช่น เขียง หรือไม้คลึงแป้ง เช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพาสตา

ส่วนเส้นสปาเกตตี (Spaghetti) ก็ปรากฏหลักฐานว่า มีต้นกำเนิดจากชาวอาหรับที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ร่วมกับชาวพื้นเมืองในซิซิลีทางตอนใต้ของอิตาลี พวกเขาริเริ่มใช้ข้าวสาลีดูรัมเป็นวัตถุดิบหลักเพราะเมื่อแห้งแล้วยังเก็บรักษาได้นานเหมาะสำหรับพกพายามต้องเดินทางไกล และสภาพพื้นที่บนเกาะก็เหมาะสำหรับการปลูกข้าวสาลีชนิดนี้ด้วย ชาวอาหรับยังถือเป็นชาติแรกที่นำเส้นพาสตาไปต้ม ในขณะที่ชาวซิซิเลียนเป็นผู้พัฒนาแป้งจนเกิดเป็น "เส้นพาสตา"

ในช่วงแรก พาสตาดูเหมือนจะเป็นอาหารสำหรับคนจนเพราะนิยมทำแบบสดเสิร์ฟง่าย ๆ กับซอสมะเขือเทศ เนื่องจากมะเขือเทศเองก็เพาะปลูกได้ดีในสภาพอากาศที่ไม่แตกต่างจากข้าวสาลีดูรัม ซึ่งเป็นเส้นพาสตาที่ไม่มีส่วนประกอบของไข่ เช่น มักกะโรนี (Maccheroni), สปาเกตตี (Spaghetti) และตักเลียตะเล่ (Tagliatelle) ยุคหลัง ๆ จึงเริ่มมีพาสตาแบบแห้งรูปทรงต่าง ๆ ออกมาส่วนใหญ่จะมาจากชาวเนเปิลส์จึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตพาสตาในเมืองเนเปิลส์นั้นขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต่อมายุคเรเนอซองส์ พาสตากลายเป็นอาหารที่แพร่หลายอยู่ในร้านอาหารมากมาย ชาวฟลอเรนซ์ที่ร่ำรวยก็จะรับประทานพาสตาที่ปรุงด้วยเครื่องเทศและน้ำตาลที่มีราคาสูง ส่วนคนทั่วไปสามารถรับประทานพาสตาที่ปรุงง่าย ๆ ด้วยกระเทียม, ชีส หรือผักพื้นเมือง
 


พาสตาเริ่มเป็นอาหารหลักของชาวเนเปิลส์ทางตอนใต้ของอิตาลีเรียกว่าพวก “คนกินมักกะโรนี” เนื่องจากข้าวสาลีที่ใช้ทำพาสตามีราคาถูก จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18 โรงงานพาสตาแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นในเนเปิลส์โดยใช้เครื่องทอร์ซิโอ (Torchio) อัดแป้งออกมาเป็นเส้นแล้วนำไปอบแห้ง "พาสตาเส้นแห้ง" กลายเป็นสินค้าที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 จึงได้เริ่มมีการผลิตเส้นพาสตาแบบที่มีส่วนผสมของไข่ในลักษณะอุตสาหกรรม แล้วกระจายแพร่หลายได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนเกิด “วันพาสตาโลก” ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 ตุลาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 25 ตุลาคมของทุกปีจึงถูกกำหนดเป็น “วันพาสตาโลก” นับแต่นั้นมาเพื่อช่วยส่งเสริมการขายพาสตาโดยจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเนปาล จากนั้นก็หมุนเวียนไปจัดในประเทศต่าง ๆ

ส่วนคนไทยนั้นเริ่มรู้จักกับพาสตาครั้งแรก หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปแล้วนำสูตรอาหารตะวันตกกลับมาด้วยเรียกว่า “แป้งอิตาลี” มีหลักฐานปรากฏอยู่ในตำรับอาหารสายเยาวภา (ตํารับอาหารส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภา พงศ์สนิท) และตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภรรยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น

อยากรู้ที่มาที่ไปและรู้จักพาสตากับถิ่นกำเนิด คือ เมืองนาโปลีและประเทศอิตาลีให้ลึกซึ้งมากขึ้น ชวนติดตามฟังรายการ “เที่ยวมีเรื่องกับหมอบัญชา” EP.68 ตอน แวะชิมแหล่งกำเนิดพิซซาที่นาโปลี   
 


รับฟังได้ทาง
???? Website | https://thaip.bs/ZZbpAfl
???? SoundCloud | https://thaip.bs/bbTE0Gz
???? YouTube | https://youtu.be/8A7-CfdoohU

ฟังผ่านแอปพลิเคชัน Thai PBS Podcast
ดาวน์โหลดและติดตั้ง คลิก : https://thaip.bs/AppThaiPBSPodcast
หรือสแกน QR Code

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป