
หลังจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยแผนโครงการ Thai Space Consortium (TSC) เพื่อสร้างยานอวกาศสัญชาติไทยไปยังดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ในงาน "วัคชีนเพื่อคนไทย" เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไป
เป็นที่น่าสนใจว่าในภายหลังการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนปี 2564 ข่าวคราวของโครงการนี้เงียบหายไปอย่างเห็นได้ชัดจากสื่อกระแสหลัก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจของใครหลายคนว่าโครงการนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (กลาง) ลงนามความร่วมมือโครงการ Thai Space Consortium (TSC)
ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ในเดือนเมษายนปี 2564 - Spaceth
ในระยะเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน ได้มีโครงการย่อยสองโครงการของ TSC ได้แก่ TSC-P และ TSC-1 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและสร้าง โดย TSC-P หรือ Pathfinder เป็นดาวเทียมทดสอบขนาดเล็กที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ Changchun Institute of Optics and Fine Mechanics (CIOMP) ภายใต้ Chinese Academy of Sciences โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ส่งทีมวิศวกรไปทำงานร่วมกับ CIOMP ที่จีนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมให้กับวิศวกรไทย โดยกระบวนการสร้างและปล่อยทั้งหมดจะดำเนินการอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีกำหนดการปล่อยภายในปี 2566 นี้
ในขณะเดียวกัน NARIT กำลังดำเนินการสร้างห้องประกอบดาวเทียมที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการผลิตดาวเทียมในประเทศไทยดวงต่อ ๆ ไป พร้อมกับการศึกษาวิจัยดาวเทียมดวงแรกที่จะถูกประกอบในห้องดังกล่าว ได้แก่ ดาวเทียม TSC-1เป็นดาวเทียมถ่ายภาพทางธรณีวิทยาและอุตุนิยมวิทยาที่จะโคจรในวงโคจรของโลก เพื่อเป็นการทดลองเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะนำร่องไปสู่การสร้าง TSC-2 ที่จะเป็นดาวเทียมโคจรรอบดวงจันทร์ เบื้องต้น TSC-1 และ TSC-2 มีแผนกำหนดการปล่อยในปี 2568 และ 2570 ตามลำดับ
โครงสร้างของดาวเทียม TSC-1 - NARIT
ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ TSC-1 ในปัจจุบัน ทีมผู้ผลิตได้นำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งใหญ่ประจำปี หรือ International Astronautical Congress 2022 ณ กรุงปารีส จำนวนหลายชิ้นตั้งแต่ในด้านการวิเคราะห์เชิงความร้อน (Thermal Analysis) ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับดาวเทียมขนาดเล็ก
นอกจากโครงการ Thai Space Consortium แล้ว ยังมีโครงการอวกาศเกิดขึ้นอีกหลายโครงการในประเทศไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น THEOS-2 ของ Gistda และ KNACKSAT-2 ของ KMUTNB ที่จะถูกปล่อยภายในปีนี้เช่นเดียวกัน งานวิจัยด้านอาหารอวกาศของทีม KEETA ที่เพิ่งได้รับเลือกจากโครงการ Deep Space Food Challenge ของนาซ่า
ชวนฟังเพิ่มเติมได้ในพอดคาสต์ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "จับตามองวงการอวกาศไทย" ร่วมพูดคุยโดย เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปั๊บ ชยภัทร อาชีวระงับโรค