
การนอนหลับ เป็นวิธีพักผ่อนที่ง่ายที่สุดแถมยังทำให้สุขภาพดีอีกด้วย ยิ่งหากได้เตียงนุ่ม ๆ หมอนหนาพอดี ผ้าห่มอุ่น ๆ กับห้องเย็นสบาย คงไม่ต้องบรรยายให้มากว่าจะนอนหลับสบายขนาดไหน แต่เดี๋ยวก่อน !
ถ้านอนหลับสบายทั้งคืนแต่ตื่นมาแล้วร้องโอดโอย ปวดหลัง ปวดเอว ลุกไม่ค่อยขึ้น หรือแม้กระทั่งรู้สึกเพลียเพราะนอนหลับไม่เต็มอิ่ม รู้หรือไม่ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากท่านอนหลับของคุณเอง บทความจาก โรงหมอ มีข้อมูลเกี่ยวกับการนอน รวมไปถึงท่านอนที่ควรเลี่ยง และท่านอนที่ดีต่อสุขภาพมาฝากกัน
นอนแล้วดีอย่างไร
- การนอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดของร่างกายและกล้ามเนื้อ
- การนอนช่วยซ่อมแซมเซลล์และปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล
- ค่าเฉลี่ยการนอนที่มีคุณภาพควรนอนอยู่ที่ 6 – 7 ชั่วโมง
- การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้ร่างกาย สมองและจิตใจกระปรี้กระเปร่า สดชื่น สดใส เบิกบาน
ท่านอนผิด ๆ มีดังนี้
1. นอนขดตัวคุดคู้
เป็นท่านอนในลักษณะตะแคงซ้ายหรือขวา งอเข่าขึ้นมาชิดหน้าอก ก้มศีรษะ ก้มหน้า โก่งหลัง และพับสะโพก เป็นท่านอนที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านี้เสี่ยงต่ออาการปวดเข่า เอ็นบริเวณเข่าและสะโพกเกิดการอักเสบ กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างอักเสบและปวด กระดูกสันหลังบิด โก่งงอ ผิดรูปหากนอนท่านี้มาเป็นเวลานาน
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยคอและหลัง การนอนท่านี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีการก้มคอนอนในท่านี้ จะทำให้กล้ามเนื้อคอตึงแล้วไปเพิ่มแรงดันของกระดูกสันหลังส่วนคอ จะกระตุ้นให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า หน้าอกหย่อนคล้อยในผู้หญิงได้
การนอนท่านี้เหมาะสำหรับ
- ผู้ที่มีปัญหานอนกรน เพราะช่วยลดการกรนขณะหลับได้
- สตรีมีครรภ์ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังทารกได้ดี แต่ไม่ควรนอนประจำหรือทำบ่อย ๆ
- ช่วยลดแรงกดของมดลูกที่ลงสู่บริเวณตับ
- เหมาะกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) และพาร์กินสัน (Parkinson) งานวิจัยพบว่า ช่วยให้ร่างกายขจัดของเสียออกจากสมองที่ทำให้เกิดโรคในระบบประสาท
2. นอนคว่ำ
เป็นท่าที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เพราะต้องขยับร่างกายบ่อย ๆ หายใจไม่สะดวก กระดูกสันหลังแอ่นมากกว่าปกติ การนอนท่านี้จะต้องบิดคอไปทางซ้ายหรือขวาและมีการแอ่นมากกว่าปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบกล้ามเนื้อคอ ปวดคอและปวดหลังได้ เป็นท่านอนที่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านข้อต่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งรวมถึงทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า หน้าอกหย่อนคล้อย
3. นอนกึ่งนั่งกึ่งนอน
เป็นท่านอนในลักษณะการเอาหมอนรองไว้ที่หลังแล้วเอนพิงบนเก้าอี้ โซฟา หรือที่นอน เมื่อต้องการพักผ่อนนอนดูซีรีส์ อ่านหนังสือหรือเล่นคอมพิวเตอร์ ท่านี้ทำให้เกิดการงอหรือก้มคอเป็นเวลานาน หากทำท่านี้เป็นประจำจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอและหลังทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ รวมถึงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ที่จากการแอ่นของหลังขณะนั่ง
4. นอนทับแขน
การนอนกดทับต้นแขนซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทเรเดียลเนิร์ฟ (Radial nerve) เกิดจากการกดทับของศีรษะหรือการพาดแขนในที่ต่าง ๆ เช่น พนักเก้าอี้ จะทำให้เกิดอาการข้อมือตกกระดกมือไม่ขึ้นแต่ไม่อันตรายสามารถหายเองได้ภายใน 3 – 4 สัปดาห์
5. นอนในท่านั่ง
ท่านอนลักษณะนี้มักเกิดขึ้นจากการเดินทางระยะไกลหรือนาน เช่น บนรถเมล์บนถนนที่รถติด การนั่งดูโทรทัศน์จนหลับบนเก้าอี้ หรือในคนเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วหลับไป โดยพบว่ามีอาการปวดต้นคอ ปวดหลัง และเจ็บก้นกบ
ท่านอนที่ควรนอน มีดังนี้
1. นอนหงาย
เป็นท่านอนพื้นฐานที่เหมาะสมและท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ เป็นการนอนวางแขนราบไว้ข้างลำตัวหรือนอนกางแขนกางขา (ท่านอนปลาดาว) ท่านี้ช่วยรักษาสรีระให้ศีรษะ ลำคอและหลังอยู่ในแนวตรง ป้องกันอาการปวดเมื่อยคอและหลัง รวมถึงป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนได้อย่างดี ลดโอกาสการเกิดสิว ไม่ทำให้หน้าเหี่ยวย่นก่อนวัย เนื่องจากไม่เกิดการสัมผัสกับหมอน รักษารูปร่างทรวงอกได้ดีกว่าท่าอื่น ท่านี้เป็นท่าที่น้ำหนักตัวกระจายลงไปทั่วแผ่นหลัง ไม่กดไว้เพียงจุดใดจุดหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง ไม่โค้งผิดรูป และหากเอาหมอนรองใต้หัวเข่าขณะนอนหงายจะยิ่งทำให้นอนหลับได้สบาย เพราะช่วยให้สะโพกงอเล็กน้อย ลดการแอ่นของหลังส่วนล่าง
แต่ท่านี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอนกรน โรคปอด โรคหัวใจ และอาการปวดหลัง
2. นอนตะแคง
จัดว่าเป็นท่านอนที่ดีต่อสุขภาพกว่าท่านอนประเภทอื่น ช่วยรักษาแนวของกระดูกสันหลังให้เหยียดตรง ลดอาการปวดเมื่อยคอและหลัง โดยเฉพาะการนอนกอดหมอนข้างแล้วเอาขาพาดบนหมอนข้าง ส่วนหมอนหนุนไม่ควรเตี้ยจนเกินไปจนคอตกเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการปวดที่ต้นคอ โดยให้ใช้หมอนที่นุนแล้วศีรษะอยู่ในระดับเดียวกับลำตัวหรือกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่ท่านี้ทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าและหน้าอกหย่อนคล้อยได้
- การนอนตะแคงซ้าย ทำให้หัวใจเต้นได้ลำบาก ปอดซ้ายจะทำงานได้ยากขึ้นจากการถูกกดทับ และหากเป็นโรคปอดข้างขวาร่วมด้วยจะทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น อาหารที่ย่อยไม่หมดทำให้เกิดการคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดลมจุกเสียดได้
- การนอนตะแคงขวา ทำให้หายใจได้สะดวก อาหารจากกระเพาะถูกบีบลงสำไส้เล็กได้อย่างดี ไม่เกิดการคั่งค้าง แต่อาจจะปวดหัวไหล่ หากใช้หมอนต่ำทำให้เกิดอาการปวดคอ และหากปอดข้างซ้ายมีปัญหา ปอดข้างขวาที่โดนนอนกดทับจะทำให้หายใจลำบาก
3. นอนดิ้น: เป็นการนอนที่เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อย ๆ แม้จะเป็นท่านอนที่ดีสำหรับผู้ใหญ่แต่กลับพบว่า เมื่ออายุมากขึ้น การนอนดิ้นจะน้อยลง เมื่อตื่นจะพบว่าท่านอนอยู่ในท่าเดียวกันกับเมื่อตอนเข้านอน ซึ่งส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยหรือปวดเนื้อปวดตัวเมื่อตื่นนอนได้
ท่านอนที่เหมาะกับปัญหาสุขภาพ มีดังนี้
- ผู้ที่นอนกรน และ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ให้นอนตะแคง
- ผู้ที่ปวดเมื่อยคอและหลัง ให้นอนหงายแล้วเอาหมอนรองใต้หัวเข่า หรือนอนตะแคง
- ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก ไม่ควรนอนตะแคงขวาแต่ให้นอนตะแคงซ้าย
- หญิงมีครรภ์ให้นอนตะแคงซ้าย ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังทารกได้ดี
ฟังรายการ โรงหมอ ทาง Thai PBS Podcast
คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast | Google Podcast
หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast
สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่
เรื่อง: พญ.กิตติยา ศรีเลิศฟ้า | แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA
เรียบเรียง: เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์ | โปรดิวเซอร์สื่อเสียงอาวุโส
กราฟิก: มัณฑนา ยารังษี
ที่มา:
รายการ "โรงหมอ" ตอน ท่านอนทำร่างพัง | https://thaip.bs/JniRZdi