บทความ / จีนยุคใหม่กับการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน
Pop Culture
จีนยุคใหม่กับการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน
31 ม.ค. 65
3,571
รูปภาพในบทความ จีนยุคใหม่กับการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน

         “ตรุษจีน” หรือ เทศกาลขึ้นปีใหม่ ตามประเพณีของชาวจีน เป็นวาระโอกาสสำคัญและมีความหมายอย่างมากสำหรับคนจีนในประเทศเพราะหมายถึงการได้มีช่วงวันหยุดยาวนับ 10 วันเพื่อวางแผนเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับไปเยี่ยมเยียนและใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านของปี สำหรับชาวจีนโพ้นทะเลหรือคนจีนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศก็ใช้เป็นโอกาสการเฉลิมฉลองเช่นเดียวกันเพียงแต่ระยะเวลาและช่วงหยุดงานรวมทั้งรายละเอียดกิจกรรมจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญของเทศกาลนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

         ชาวจีนเรียกขานเทศกาลนี้ว่า ชุนเจี๋ย (春节; Chūnjíe) หมายถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากสังคมจีนดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม ช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นการสิ้นสุดฤดูหนาวอันยาวนาน อากาศเริ่มอุ่นขึ้นและต้นเริ่มผลิใบแตกยอดใหญ่ เป็นสัญญานการเริ่มต้นใหม่ที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผู้คนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น เกษตรกรก็จะใช้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองและเตรียมกล้าพันธุ์เพื่อเพาะปลูกฤดูกาลใหม่อีกครั้ง

รูปปั้นขงจื่อ

คนจีนในสมัยก่อน ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าและขงจื่ออย่างมากจึงมีผลต่อค่านิยมความคิดอ่านและความเชื่อ รวมทั้งการกำหนดประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย หนึ่งในค่านิยมที่ปลูกฝังมายาวนานหลายพันปีคือ ความกตัญญูและการเคารพผู้อาวุโส ร่องรอยเหล่านี้ปรากฎชัดในพิธีกรรมและกิจกรรมการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนด้วย

         รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา เล่าในรายการ “มองจีนมุมใหม่” ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์ว่า เดิมชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้และงานเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษจีนยาวนานถึง 7 วัน ก่อนจะลดรูปกิจกรรมบางส่วนไป สำหรับชาวจีนโพ้นทะเล ก็จะเหลือเพียง 3 วันหรือ 1 วันเช่นในปัจจุบันและการให้ความหมายของพิธีกรรมบางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

         กิจกรรมสมัยดั้งเดิมนั้นประกอบด้วย

         วันที่ 1 จะเป็นการกราบไหว้เพื่อเตรียมรับเทพเจ้าฟ้าดิน

         วันที่ 2 การกราบไหว้บรรพชนและบรรพบุรุษในครอบครัว

         วันที่ 3 และ 4 ของเทศกาล เป็นวาระที่สมาชิกในบ้านเดินทางกลับไปเยี่ยมพ่อ-แม่และครอบครัวของฝ่ายภรรยา เนื่องจากธรรมเนียมจีน หญิงสาวเมื่อแต่งงานแล้วต้องออกจากบ้านตัวเองไปอยู่กับครอบครัวสามีชั่วชีวิต ช่วงตรุษจีนจึงเป็นโอกาสเดียวในแต่ละปีที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดและพ่อแม่ได้

         วันที่ 5 สมาชิกทุกคนในบ้านจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ห้ามออกจากบ้าน เพื่อเตรียมรับเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง

ประทัดและโคมไฟ

         วันที่ 6 วันฉลองเทศกาลโคมไฟ ในยุคจีนโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้า ต้องอาศัยความสว่างจากโคมไฟ ตะเกียงและคบเพลิง ตรุษจีนและเทศกาลสำคัญอื่น ๆ ก็จะเป็นโอกาสที่จะฉลองด้วยแสงไฟและความสว่างไสวเพื่อขับไล่ความมืดมิด เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ที่ดีงาม พร้อมกันนั้นก็มีการจุดประทัดให้เกิดเสียงดังแสดงความคึกครื้น ด้วยเชื่อว่ามีสัตว์ดุร้ายตัวหนึ่งชื่อว่าเหนียน ชาวบ้านจึงใช้ไฟและเสียงดังเพื่อขับไล่ความชั่วร้ายทั้งปวงออกไป สำหรับคู่หนุ่มสาวแต่งงานใหม่เพิ่งสร้างครอบครัวที่ยังไม่มีลูกจะใช้เทศกาลนี้ เปลี่ยนโคมไฟหน้าบ้านใหม่ด้วยเชื่อกันว่าจะทำให้มีลูกสืบสกุลได้ในไม่ช้า

         วันที่ 7 เชื่อกันว่าเป็นวันกำเนิดมนุษย์ ดังนั้น ครอบครัวชาวจีนจึงนิยมกินบะหมี่ในวันนี้ เนื่องจากบะหมี่มีลักษณะเป็นเส้นยาวจึงถือเคล็ดว่า กินบะหมี่โดยไม่ตัดเส้นให้ขาดออกจากกันก็หมายถึงการทำให้มีอายุที่ยืนยาว เมนูบะหมี่ ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารที่บรรจุไว้ในงานฉลองสำคัญ ๆ หลายเทศกาล รวมทั้งงานแต่งงานด้วย

ธรรมเนียมนี้ถือปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันคนจีนยุคใหม่และชาวจีนโพ้นทะเลก็ลดรูปพิธีกรรมต่าง ๆ พร้อมเปลี่ยนรูปแบบการเฉลิมฉลองตรุษจีนจนเหลือเพียง 3 วัน สำหรับปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.65

         วันแรกคือวันจ่าย ออกไปซื้อข้าวของเตรียมเซ่นไหว้ ต่อมาคือวันไหว้ มีการไหว้ตลอดวัน เช้า-ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง, สาย-ไหว้บรรพชน, บ่าย-ไหว้ผีต่าง ๆ และช่วงเย็น คือการสังสรรค์ในครอบครัว และวันที่ 3 คือวันเที่ยว เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวจะใช้เวลาด้วยกันทั้งวัน สำหรับในประเทศไทย พื้นที่ซึ่งยังมีความยึดโยงกับการจัดกิจกรรมฉลองตรุษจีนอย่างเข้มข้นคือชุมชนที่มีคนจีนอยู่จำนวนมาก เช่น เยาวราช, ปากน้ำโพ นครสวรรค์, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และปัตตานี เป็นต้น

         ชาวจีนจะมีค่านิยมการถือเคล็ดและความเชื่อหลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับความเป็นสิริมงคล ดังนั้น เครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ก็มีความหมายแฝงเพื่อให้เกิดความรู้สึกดี ๆ และการส่งเสริมในเชิงบวกด้วย ได้แก่

ขนมเข่ง

         ขนมเข่ง ชื่อในภาษาจีนคือ เหนียนเกา (年糕; nián gāo) คำว่า เกา พ้องเสียงกับคำว่า สูง ก็อาจหมายถึงปีที่ดี รุ่งเรืองมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
         ปลา ออกเสียงว่า หยูว์ (鱼; Yú) พ้องเสียงกับความหมายว่า เหลือ จึงเป็นเมนูที่ต้องมีในการไหว้ ด้วยเชื่อว่าจะทำให้เหลือกินเหลือใช้ ในบางพื้นที่ของจีนก็จะถือเคล็ดว่า ต้องกินปลาให้มีเนื้อเหลือติดจานไว้ด้วย ห้ามกินจนหมด เพื่อให้เหลือทรัพย์สินเงินทองต่อไปจนถึงลูกหลาน
         แอปเปิ้ล ภาษาจีนคือ ผิงกั่ว (苹果; píngguŏ) ผิง พ้องเสียงกับความหมายถึง ความราบรื่น ปลอดภัย สงบสุข ดังนั้นคนจีนเชื่อว่า แอปเปิ้ล เป็นผลไม้ที่กินแล้วดี จะทำให้ชีวิตมีความราบรื่น มีความสุข
         เกี๊ยว ออกเสียงภาษาจีนคือ เจียวจื่อ (饺子; jiăozi) พ้องเสียงกับ การแทนที่ ดังนั้น กินเกี๊ยวก็หมายถึงปีใหม่มาแทนที่ปีเก่า อีกประการหนึ่งรูปทรงเกี๊ยวมีลักษณะคล้ายก้อนเงินโบราณ คนจีนจึงนิยมเอาเคล็ดว่ากินแล้วเป็นการสะสมเงินทอง

         ยุคสมัยเปลี่ยนไป พิธีกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เทคโนโลยีมีส่วนอย่างมากทำให้การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม ข้อจำกัดในอดีตหลายอย่างก็หายไป เช่น การเดินทาง จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานานในการข้ามเมืองหรือมณฑลหากต้องกลับไปบ้านเกิด ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่แพงตามระยะ แต่การโทรศัพท์ VDO Call ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ก็ทำให้สมาชิกในครอบครัวยังติดต่อสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด หรือการโอนอั่งเปาออนไลน์ เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ เทศกาลตรุษจีนสำหรับชาวจีนยุคใหม่ แม้บางส่วนจะให้ความสำคัญกับพิธีกรรมลดน้อยลง แล้วเกิดความหมายใหม่ที่จะถูกมองถึงวันหยุดยาวเพื่อเตรียมท่องเที่ยวหรือเป็นวันพักผ่อน รอดูรายการพิเศษ การแสดงหลากหลายที่น่าตื่นตาตื่นใจผ่านสื่อโทรทัศน์ CCTV ของรัฐ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สำหรับชาวจีนแล้วสาระสำคัญหลัก ๆ ยังคงอยู่ โดยเฉพาะการแสดงความกตัญญต่อบรรพบุรุษและการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว

 

ฟังรายการ มองจีนมุมใหม่ ฉบับเต็ม ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

เรียบเรียง:  โสภิต      หวังวิวัฒนา
ข้อมูล:      รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล 
กราฟิก:     มัณฑนา   ยารังษี

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป