คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองดี โดยมีประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ผ่านมาเป็นปัจจัย แต่การเชื่อมั่นในตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง หลงตัวเอง อาจอยู่ในไม้บรรทัดเดียวกัน แต่ระดับอาจไม่เท่ากัน
โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder: NPD) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โรคหลงตัวเอง เป็นโรคที่ถูกระบุในทางจิตเวชศาสตร์ โดยคนที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกว่า
-
ตนเองยิ่งใหญ่ ในขณะที่คนอื่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ เท่านั้น
-
ต้องการการถูกยอมรับ และคำชมจากคนอื่นเสมอ
-
ต้องการเป็นจุดสนใจหรือ Spotlight เท่านั้น ใครจะมาแย่งซีนหรือเด่นกว่าไม่ได้
-
ชอบเอาชนะ แพ้ใครไม่ได้ หากใครชนะจะรู้สึกไม่ชอบใจเลย
-
ความคิดหรือแนวคิดของตนเองต้อง "ถูกต้องเสมอ"
-
เป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง
-
มักคิดว่าคนอื่นต้องอิจฉาตัวเองอยู่เสมอ
-
มักปฏิเสธรับความผิดพลาด (โทษคนอื่น)
-
มักจะพูดโยนความผิด (Gaslighting) ให้คนอื่น
คนที่ถูก Gaslighting จะถูกทำลายความเชื่อมั่นในตัวเอง กลายเป็นคนที่ต้องคอยเอาอกเอาใจหรือทำให้คน ๆ นั้นถูกใจอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเป็นทาสรับใช้นาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งสถานะแฟน เพื่อน หรือแม้แต่เจ้านายกับลูกน้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคน ๆ หนึ่งที่เป็นโรคนี้ สามารถย้อนกลับไปในระดับครอบครัวและสังคมที่เจริญเติบโตได้ เช่น เป็นลูกที่ถูกชื่นชมอวยยศอยู่บ่อย ๆ หลงระเริงในคำชมจนเสียผู้เสียคน หรือ อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่มักลดทอนคุณค่าและไม่เคยถูกชื่นชม จนมีความเจ็บปวดบางอย่าง ทำให้ต้องสร้างเกราะป้องกันเพื่อไม่ให้ใครมาลดทอนคุณค่านั้นได้
สำหรับคนที่มีพฤติกรรมถึงขั้นเป็นโรค จะไม่ยอมรับคำวิจารณ์ใด ๆ จากคนอื่นและปฏิเสธการรับรู้ความจริงว่าตนเองมีข้อบกพร่อง ไม่คิดว่าตนเองคือคนที่มีปัญหา คนอื่นต่างหากที่มีปัญหาหรือผิดปกติ และที่สำคัญคนเหล่านี้จะไม่เข้าหานักจิตวิทยาเด็ดขาด
ความแตกต่างระหว่าง Narcissistic Personality Disorder กับ Perfectionist
Narcissistic Personality Disorder กับ Perfectionist เป็นคนละกลุ่มกัน แม้ Perfectionist เป็นคนเจ้าระเบียบ ทุกอย่างต้องเป๊ะสมบูรณ์แบบ เพราะนี่คือสิ่งที่คนเก่งทำกัน แต่มีความกลัวว่าเรื่องที่ทำอาจยังไม่ดีพอหรือกลัวถูกตำหนิ ทุกอย่างจึงต้องดีที่สุด ไม่ได้มีความสุขด้วยการเสพความสนุกจากความสมบูรณ์แบบเหมือนกับ Narcissistic Personality Disorder
หากต้องเจอหรือต้องอยู่กับคนเป็นโรคนี้ทำอย่างไร?
-
เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น
-
อย่าตำหนิว่าตัวเองดีไม่พอ ไร้ค่า หรือด้อยค่าซ้ำจากการกระทำของคน ๆ นั้น
-
หลบเลี่ยงหรือย้ายออกจากสถานการณ์นั้นทันที
-
ระวังการถูกปั่นด้วยการตั้งสติ มีความเชื่อมั่นและถ่อมตัวในตัวเอง
ข้อมูล : ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา
เรียบเรียง : เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ฟังรายการได้ทาง