บทความ / ค่านิยมในงานแต่งงานและงานศพของคนจีน
News & Analysis
ค่านิยมในงานแต่งงานและงานศพของคนจีน
28 มิ.ย. 67
1,572
รูปภาพในบทความ ค่านิยมในงานแต่งงานและงานศพของคนจีน

คนไทยจำนวนมากในประเทศไทยมีเชื้อสายจีนสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากนับจากต้นตระกูลจนถึงปัจจุบันก็อาจเป็นรุ่นที่ 3-4 แล้ว นั่นหมายความว่าช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 100 ปี ดังนั้น ความเชื่อและค่านิยมต่าง ๆ ที่เคยถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นธรรมเนียมในการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงและคลี่คลายไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย

สำหรับในประเทศจีน มีหลายงานที่จะถูกให้ความสำคัญและมีพิธีการที่ต้องไม่ละเลย เราสามารถทำความรู้จักสังคมจีนได้ผ่านงานมงคลและอวมงคล นั่นคืองานแต่งงานและพิธีศพ

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าในรายการ “มองจีนมุมใหม่” เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับเชิญไปร่วมงานแต่งงานของคนจีนเมื่อหลายสิบปีก่อน สิ่งแรกที่สามารถสังเกตเห็นได้เมื่อเข้าไปในงาน นั่นคือเจ้าภาพจะต้อนรับแขกที่มาร่วมงานแต่งงานด้วยลูกกวาดและมวนบุหรี่เป็นจำนวนมาก ลูกกวาดในงานแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงความหมายถึงชีวิตคู่อันหวานชื่นเหมือนลูกกวาด

ชาวจีนยังนิยมใช้สีแดงเป็นสีหลักในงาน ไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งงาน อุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องใช้ต่าง ๆ อีกทั้งยังใช้ในงานมงคลอื่น ๆ ด้วย เช่น เทศกาลตรุษจีน เพราะเชื่อกันว่าสีแดงเปรียบเสมือนสีของเลือดที่หล่อเลี้ยงและมอบชีวิตให้กับเรา นอกจากนี้ การที่แขกมอบความช่วยเหลือให้กับเจ้าภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่าง ๆ ของคนจีน ทั้งเครือญาติและคนในชุมชนจะมาช่วยกันทั้งการตระเตรียมงานและการมอบเงินใส่ซอง โดยเจ้าภาพจะมีการจดบันทึกหรือจดจำไว้ว่ามีผู้ใดมาร่วมช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ตอบแทนเป็นความช่วยเหลือในภายหลังเมื่ออีกฝ่ายมีเรื่องเดือดร้อน

ส่วนการจัดงานศพก็มีสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างไป คนไทยเชื้อสายจีนจะนำศพผู้วายชนม์ไปฝังไว้ที่สุสาน แต่ในทางกลับกัน การฝังศพในสุสานไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนจีนที่อาศัยในเมืองใหญ่ ๆ เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูงมาก ต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงหลักฮวงจุ้ยและภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เพราะเชื่อกันว่าจะส่งผลต่อความมั่งคั่งของลูกหลานต่อไปในอนาคต ทำให้คนจีนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้นิยมการเผาศพมากกว่า อาจจะยังมีพิธีฝังศพให้เห็นกันอยู่บ้างในกลุ่มเกษตรกรในชนบทหรือผู้ที่มีพื้นที่เป็นของตนเอง จึงสามารถฝังศพและสร้างสุสานให้กับรรพบุรุษที่จากไปได้

หากเราสังเกตเห็นว่าบ้านหลังไหนในจีนติดโคมไฟสีแดงที่มีตัวอักษรสีน้ำเงินเขียนไว้ที่บริเวณหน้าบ้าน ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะตามธรรมเนียมจีน เมื่อทุกขั้นตอนในพิธีศพเสร็จสิ้นลง เครือญาติจะนำโคมไฟสีแดงที่เขียนไว้ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงินมาติดไว้ที่บริเวณหน้าบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าบ้านหลังนี้เพิ่งมีผู้ที่เสียชีวิตไป

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่แตกต่างระหว่างธรรมเนียมจีนและสิ่งที่ชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากในเมืองไทยให้ความสำคัญแล้วถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ การที่เรารู้จักค่านิยมและธรรมเนียมที่แตกต่างกันก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น


โดย ณัฐชลัย พัฒโนทัย



ฟังรายการได้ทาง

 


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป