![รูปภาพในบทความ จุดเริ่มต้นโครงการวอยเอเจอร์ ฝาแฝดนักเดินทางผู้พิชิตขอบระบบสุริยะ](/uploads/imgs/articles/cover/149.jpg?v=67a73266822b1)
เช้าวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1977 จรวดไททันลำหนึ่งได้ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยที่ 41 แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา สู่ฟากฟ้าอันกว้างใหญ่ พายานสำรวจวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ข้ามผ่านเส้นคาร์แมนเข้าสู่ห้วงอวกาศ เริ่มต้นภารกิจการเดินทางอันยาวนานของมัน สองอาทิตย์ให้หลัง จรวดไททันอีกลำได้ส่งยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) ผู้เป็นฝาแฝดของวอยเอเจอร์ 2 สู่อวกาศไปตามกัน
จรวดไททัน 3E นำส่งยานวอยเอเจอร์ 1 สู่อวกาศ - NASA/KSC
ภารกิจฝาแฝดวอยเอเจอร์นับเป็นภารกิจการสำรวจอวกาศครั้งสำคัญในทศวรรษนั้น จากโอกาสอันเหมาะเจาะที่ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโต (ที่ยังนับว่าเป็นดาวเคราะห์ในขณะนั้น) ได้มาเรียงตัวในระนาบเดียวกันที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 175 ปี เปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถส่งยานอวกาศเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์แห่งระบบสุริยะชั้นนอกทั้ง 4 นี้ได้พร้อมกันในคราวเดียว โดยโอกาสสำคัญครั้งดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า "แกรนด์ทัวร์" หรือ "การเดินทางครั้งใหญ่"
แต่กว่าการเดินทางครั้งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้จริง กว่าที่วอยเอจเจอร์ทั้งสองจะได้แตะขอบอวกาศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ในวงการต่างพากันสู้ฝ่าฟันเพื่อดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
ภาพฝันของการสำรวจครั้งดังกล่าวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1969 ในฐานะภารกิจการส่งยานแฝดสองคู่ (สี่ลำ) เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกทุกดวง โดยคู่หนึ่งถูกปล่อยในปี ค.ศ. 1977 เพื่อสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวพลูโต ในขณะที่อีกคู่ถูกปล่อยในปี ค.ศ. 1979 เพื่อไปสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติงานอวกาศสมัยนั้นที่นิยมส่งยานสำรวจไปเป็นคู่เพื่อเป็นยานสำรองซึ่งกันและกันในกรณียานอีกลำขัดข้องหรือเสียหาย
แต่แล้วในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1971 จากการเกิดขึ้นของโครงการสำคัญอีกโครงการในวงการสำรวจอวกาศอย่างโครงการกระสวยอวกาศ (Shuttle Program) และแรงกดดันจากภาคการเมือง ทำให้แผนการดังกล่าวถูกพับไปในที่สุด
ภาพถ่ายของดาวเนปจูนและดวงจันทร์ไทรทันจากยานวอยเอเจอร์ 2 - NASA/KSC
แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาได้ร่างแผนโครงการขึ้นมาใหม่ที่ลดเป้าหมายและงบประมาณของงานลงเหลือการสร้างยานสำรวจเพียงสองลำ และขออนุมัติงบภายใต้ชื่อโครงการมาริเนอร์ จูปิเตอร์-แซทเทิร์น (Mariner Jupiter-Saturn) ที่ตั้งงบประมาณไว้เพียงแค่ภารกิจการสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ เพื่อลดประมาณการค่าใช้จ่ายของทั้งโครงการ โดยทิ้งภารกิจการของบสำรวจดาวดวงถัด ๆ ไปไว้เป็นโจทย์ในอนาคต เมื่อโครงการขั้นต้นสำเร็จลุล่วงด้วยดี ซึ่งแผนการนี้ได้ผ่านงบประมาณไปในปี ค.ศ. 1972
เดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1977 เพียงไม่กี่เดือนก่อนการปล่อยยานสำรวจ นาซ่าได้จัดการประกวดตั้งชื่อยานแฝดทั้งสอง ชื่อที่ชนะในครั้งนั้นก็คือ วอยเอเจอร์
ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้บินโฉบระบบดาวพฤหัสบดี และระบบดาวเสาร์พร้อมกับดวงจันทร์ไททัน ในเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1979 และเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1980 ตามลำดับ ในการวางแผนเส้นทางการเดินทางแล้ว ทีมทำภารกิจต้องเลือกเป้าหมายระหว่างการสำรวจดาวจันทร์ไทรทัน และดาวพลูโต ซึ่งจากข้อมูลในขณะนั้นดวงจันทร์ไทรทันนับเป็นเป้าหมายที่มีความน่าสนใจมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกในครั้งนั้นก็ได้ปิดโอกาสการสำรวจดาวพลูโตของโครงการวอยเอเจอร์ไปตลอดกาล ในขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 2 ได้บินโฉบระบบดาวพฤหัสบดี ระบบดาวเสาร์ ระบบดาวยูเรนัส และระบบดาวเนปจูน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1979, มิถุนายน ค.ศ. 1981, พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 และมิถุนายน ค.ศ. 1989 ตามลำดับ โดยการสำรวจทั้งหมดก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามแผนการที่วางไว้
เส้นทางการเดินทางของวอยเอเจอร์ทั้งสอง - NASA
ภารกิจวอยเอเจอร์ภายใต้การนำของห้องปฏิบัติการไอพ่นจรวด (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) นับได้ว่าเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญของการสำรวจอวกาศในโอกาสอันยิ่งใหญ่ ที่ได้มอบข้อมูลอันมีค่าแก่วงการดาราศาสตร์มากมาย บุกเบิกเส้นทางให้กับภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกในยุคต่อมาอีกหลายต่อหลายภารกิจ และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนนับไม่ถ้วนจนกลายเป็นภารกิจอวกาศระดับตำนานมาจนถึงปัจจุบัน
ฟังเรื่องราวทั้งหมดนี้จาก เติ้ล - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ น้ำหวาน - ภิรมณ กำเนิดมณี เล่าประสบการณ์การเยี่ยมเยือน JPL ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ห้องประกอบยานอวกาศ ไปจนถึงลานทดลองโรเวอร์ ในสภาพจำลองพื้นผิวดาวอังคาร ได้ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอนที่ 91 "เยี่ยมชม JPL จุดเริ่มต้นโครงการอวกาศระดับตำนาน"
ฟังรายการได้ทาง