แมลงก้นกระดก (Rove beetles) เป็นแมลงขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มด้วง ลำตัวเรียวยาวเป็นปล้องสีดำสลับสีส้ม ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและชานเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตร ชุกชุมที่สุดในช่วงฤดูฝน ที่สำคัญ ชอบออกมาเล่นแสงสว่างจากไฟฟ้าตามบ้านเรือน
ตามธรรมชาติของแมลงชนิดนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะช่วยควบคุมศัตรูพืชในกลุ่มของหนอนผีเสื้อที่เป็นตัวอ่อน แต่กลับมีพิษสงร้ายกาจต่อผิวหนังของมนุษย์อย่างยิ่งจากสารพิเดอริน (Piderin) สารพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรดชนิดอ่อน การศึกษาพบว่า ตัวเมียมีปริมาณสารพิษชนิดนี้มากกว่าตัวผู้ และแม้ว่าแมลงจะตายไปแล้วแต่สารชนิดนี้ยังคงมีพิษยาวนานนับ 10 ปี และความร้อนไม่สามารถทำลายได้
สารพิเดอรินที่ถูกปล่อยออกมาเป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติของแมลงชนิดนี้ แต่หากผิวหนังของมนุษย์ไปสัมผัสหรือโดน เพียงแค่แมลงบินมาเกาะ หรือจากการปัด บี้ ตี ตบ หรือจับจนสารพิษในตัวแมลงแตกออก ก็ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ และเมื่อเกา จะทำให้สารพิษกระจายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น ผิวหนังก็จะระคายเคืองเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน ที่สำคัญหากพิษไปสัมผัสกับดวงตา ก็มีโอกาสทำให้ตาบอดได้
สำหรับอาการที่เกิดจากสารพิเดอรินในแมลงก้นกระดก จะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ในช่วงแรก แต่จะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะพุพอง ผิวหนังจะเริ่มแดงจากการอักเสบภายใน 12-36 ชั่วโมง มีอาการแสบร้อนและคันในตอนกลางคืน ระคายเคืองรุนแรงในตอนเช้า จุดที่มักพบบ่อย ๆ คือ ใบหน้า ลำคอ และแขน หากเกิดบริเวณข้อพับ รอยจะยาวหรือกว้างใหญ่ขึ้น หากเกาอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่อาการอักเสบของแผลจนทำให้เกิดหนองได้
ในกรณีที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ผื่นและแผลจะหายภายใน 7-10 วัน มักทิ้งรอยดำไว้สักระยะก่อนจะจางหายไปเอง โดยระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของพิษและระยะเวลาที่สัมผัสพิษ
คำแนะนำ
-
ห้ามปัด บี้ ตี ตบ หรือจับโดยเด็ดขาด ให้เป่าออกไป
-
หากโดนพิษให้ล้างด้วยน้ำสะอาดเยอะ ๆ ใช้สบู่ฟอก และประคบเย็นบริเวณที่เป็น
-
ทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ทาเพื่อลดการอักเสบ
-
ใช้ว่านหางจระเข้ หรือคาลามายด์โลชัน เพื่อลดอาการแสบร้อนระคายเคือง
-
ไม่ควรเอามือไปแตะที่แผลแล้วขยี้ตา
-
หากมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
-
ควรปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด หรือติดมุ้งลวดตามช่องอาคาร
-
เวลานอน ควรปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม และให้ปิดไฟนอน
-
กำจัดโดยการใช้ยาฆ่าแมลงได้ แต่การเก็บกวาด ห้ามไปสัมผัสกับซากแมลงด้วยมือเปล่า เพราะแมลงที่ตายแล้วยังคงมีสารพิเดอรินอยู่
ข้อมูลโดย น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ | นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ด่านกักกันสัตว์นราธิวาส
ภญ. ดร.กรกช กังวาลทัศน์ | คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ฟังรายการได้ทาง